ins class="adsbygoogle" style="display:block; text-align:center;">
ภาครัฐที่รับเงินภาษีของประชาชนไปดำเนินการบริหารจัดการภัยพิบัติ ป้องกันความสูญเสียชีวิตและความเสียหายของทรัพย์สินทั้งของสาธารณะและปัจเจกชน ในการนี้ ภาครัฐได้ออกกฎหมายขึ้นมาให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินการ ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550
เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ประชาชนไม่ได้รับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐและเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ เท่าใดนัก ซึ่งเราประชาชนทั้งหลายจะต้องรู้และพิจารณาให้เข้าใจถึงภาวการณ์ที่เกิดขึ้น และลุกขึ้นมาผลักดันแก้ไขต่อไปในประเด็น ดังต่อไปนี้
1. เพิ่มเติมการกำหนดหลักความรับผิดชอบโดยปราศจากความผิด
ซึ่งจะต้องแก้ไขให้มีบทบัญญัติให้รัฐบาลกลางมีความรับผิดชอบในการดำเนินการของตน เพื่อให้การป้องกันสาธารณภัยเกิดผลอย่างเต็มกำลัง ทั้งยังต้องมีหน้าที่ตามกฎหมายในการสร้างหลักประกันว่าหน่วยงานภาครัฐทั้งหลายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการป้องกันสาธารณภัย ทั้งในส่วนภายใต้การบังคับบัญชาและการกำกับดูแลของรัฐบาลกลางจะปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างสอดคล้องกันเพื่อให้บรรลุซึ่งเป้าหมายในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในทุกขั้นตอน
ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีบทบัญญัติให้มีความรับผิดชอบในการใช้ศักยภาพทั้งหมดในระดับสูงสุดของตน เพื่อการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินให้พ้นจากสาธารณภัย
พร้อมทั้งกำหนดให้มีระเบียบในการจ่ายเงินเพื่อทดแทนความเสียหายโดยรัฐ
ในต่างประเทศ ทั้งในญี่ปุ่น ฝรั่งเศษ และสหรัฐอเมริกาล้วนมีบทบัญญัติในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ซึ่งหากมีบทบัญญัติดังกล่าวขึ้น ใน พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ของประเทศไทย ประชาชนจะได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้น 2 ประการ คือ
(1) ภาครัฐจะดำเนินการป้องกันสาธารณภัยในลักษณะเชิงรุกและมีพลวัต
(2) ศาลปกครองมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสินให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ที่รับภาระสาธารณภัย หรือได้รับผลกระทบจากการจัดการสาธารณภัยของหน่วยงานภาครัฐได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม ในกรณีที่ภาครัฐไร้ประสิทธิภาพหรือดำเนินการตามกฎหมายโดยไม่ได้กระทำละเมิดก็ตาม
2. เพิ่มเติมการประสานความร่วมมือระหว่างจังหวัดหรือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ซึ่งจะต้องแก้ไขให้มีบทบัญญัติเพิ่มเติม 2 ลักษณะ คือ
(1) มีบทบัญญัติให้มีความผิดทางละเมิดขึ้น ในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ที่ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือแล้วไม่ได้ให้การช่วยเหลือหรือไม่ให้การสนับสนุนตามควรแก่กรณี
(2) กำหนดให้มีการดำเนินการป้องกันสาธารณภัยร่วมกันในหลายพื้นที่หลายๆองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ ซึ่งใน พ.ร.บ. ปภ. พ.ศ.2550 กำหนดไว้เพียงให้มีการสนับสนุนช่วยเหลือเป็นคราวๆไปเมื่อมีการร้องขอความช่วยเหลือเท่านั้น
ซึ่งหากมีบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ประชาชนจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้น 2 ประการ คือ
(1) ความยั่งยืนในการดำเนินการจัดการสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(2) มีการดำเนินการเชิงรุกและมีพลวัตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
--------------------------------------------------
< ย้อนกลับ | ถัดไป > |
---|