ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยได้เห็นภาพของ “อาคารสำนักงาน สตง.หลายจังหวัดถูกทิ้งร้าง ปล่อยให้โครงสร้างคอนกรีตตั้งโด่เด่อย่างไร้ประโยชน์ บางแห่งสร้างนานนับปีโดยไม่มีความคืบหน้า จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของปัญหาซ้ำซากในระบบจัดจ้างภาครัฐของไทย
เหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์นี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหตุใดหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของประเทศ กลับมีโครงการของตนเองที่กลายเป็นภาระของรัฐ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน คำตอบไม่ได้อยู่แค่ในตัวผู้รับจ้าง แต่สะท้อนความล้มเหลวเชิงโครงสร้างของระบบราชการไทยที่ยังไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันความเป็นจริงของเศรษฐกิจ สังคม และการก่อสร้างในปัจจุบัน โดยเฉพาะ สตง.เองที่พยายามสร้างบรรทัดฐานโครงสร้างระบบจัดจ้างภาครัฐของไทย
สาเหตุหลักของการทิ้งงาน คือ
1.ความซับซ้อนของแบบและข้อกำหนด โครงการของ สตง. มักถูกกำหนดด้วยมาตรฐานที่สูงและซับซ้อน ทำให้เกิดปัญหาในการก่อสร้าง และเกิดความขัดแย้งในขั้นตอนการตรวจงาน
2.แรงกดดันด้านการตรวจสอบ เนื่องจาก สตง. เป็นหน่วยงานตรวจสอบ การดำเนินโครงการของตนเองจึงมักถูกเพ่งเล็งอย่างมาก ส่งผลให้ผู้รับเหมามีปัญหาเล็กน้อยหยุมหยิมในการดำเนินงาน
ผลกระทบต่อรัฐและประชาชน
1.งบประมาณสูญเปล่า จากโครงการที่ไม่แล้วเสร็จ ต้องใช้งบเพิ่มเติมในการรื้อถอนหรือประมูลใหม่ จังหวัดละ หกสิบถึงเจ็ดสิบล้านบาท รวมห้าร้อยกว่าล้านบาท
2.สูญเสียโอกาสที่ควรได้ใช้งานอาคาร แต่อาคารกลับรกร้าง
3.ประชาชนหมดศรัทธาต่อการใช้งบภาครัฐ โดยเฉพาะกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบคนอื่น
โครงการของ สตง. ที่ถูกทิ้งกลางทาง ไม่ใช่แค่เรื่องของการบริหารงานผิดพลาด แต่เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่าระบบจัดการโครงการของรัฐไทยยังมีปัญหาหนักในระดับโครงสร้าง
หากไม่เร่งปฏิรูปอย่างจริงจัง โครงการของหน่วยงานใดก็อาจพบชะตากรรมเดียวกันในอนาคต
นั่นคือ งบประมาณถูกใช้โดยไม่มีประโยชน์ และประชาชนเป็นผู้รับผลกระทบ