วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

ในปัจจุบันสมรรถนะเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับองค์การ แม้กระทั่งองค์กรชุมชนก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการภัยพิบัติของชุมชน ซึ่งความสำคัญจะอยู่ที่ การคาดการณ์หรือการบริหารความเสี่ยงที่มีในชุมชน ซึ่งจะสามารถดำเนินการดังกล่าวได้ดีเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับสมรรถนะของชุมชน

แต่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐราชการรวมศูนย์ การเข้าไปให้การศึกษาอบรม เข้าไปพัฒนาทักษะ ความสามารถด้านภัยพิบัติในชุมชนมากเพียงใดก็อาจจะยังไม่ได้ประสิทธิผลหรือสร้างความมั่นใจได้ว่าชุมชนจะปลอดภัยจากภัยพิบัติ หากว่าขาดสมรรถนะที่เพียงพอต่อระดับภัยพิบัติ

ปัจจุบันเราย่ำอยู่กับ 2 แนวทางดั้งเดิม ที่ทำให้ไม่เห็นการพัฒนาสมรรถนะภัยพิบัติ คือ

1.ย่ำอยู่กับความล้มเหลวของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือความประพฤติส่วนบุคคลจากการฝึกอบรม การให้การศึกษาและการใช้วงจรคุณภาพ ซึ่งหากเป็นแนวทางสมรรถนะ จะต้องมีกระบวนการสร้างความต้องการสำหรับพฤติกรรมที่พึงปรารถนาขึ้นมา

2.ย่ำอยู่กับทักษะเดิมๆ รูปแบบโครงสร้างการทำงานเดิมๆ  ความสามารถของคนถูกมองในรูปของการครอบครองทักษะ และความสามารถเฉพาะเท่านั้น ซึ่งหากเป็นแนวทางสมรรถนะ จะมองว่าความสามารถนั้นครอบคลุมไปถึงการพัฒนาทัศนคติ ค่านิยม กรอบแนวคิดที่จะช่วยให้คนสามารถเข้าใจ เข้าถึงและจัดการกับปัญหาต่างๆที่เข้ามารุมเร้าองค์กรได้

การที่จะสร้างความสามารถและทักษะใหม่ๆ ได้นั้น เราต้องพัฒนากรอบแนวคิด ทัศนคติ ความเชื่อและอุปนิสัยของคนในองค์กรโดยรวม(ค่านิยม) ซึ่งหากมีการพัฒนาดังกล่าวจะช่วยในการสร้างพฤติกรรมของคนในองค์กร/ชุมชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับวิสัยทัศน์ ภารกิจและกลยุทธ์ขององค์กรหรือชุมชน (ชุมชนยุคใหม่ต้องมีวิสัยทัศน์ ภารกิจและกลยุทธ์)