วันที่ 30 มีนาคม 68 กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ โดยนายอนุทิน ชาญวีระกุล ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ประกาศลดระดับการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) เป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดกลาง (ระดับ 2) ซึ่งระดับสองนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะเป็นผู้สั่งการควบคุมและบัญชาการ
เป็นการปัดสะหวะให้พ้นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับเจ้าของตึกสูงนับหมื่นแห่งทั่วกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล
การตรวจสอบตึกสูงและให้การรับรองความปลอดภัยกับประชาชนต้องมาก่อนการลดระดับการจัดการสาธารณภัย และควรตั้งทีมจากกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เข้าไปตรวจสอบสภาพ โครงสร้างของตัวอาคาร และอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ของตึกสูงที่มีรอยร้าว ร่วมกับวิศวกรของเจ้าของตึก และต้องกำหนด มาตรฐานความปลอดภัย ก่อนที่จะให้ประชาชนกลับเข้าไปใช้งานอาคารเหล่านั้น
ซึ่งกองบัญชาการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ จะสามารถระดมบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ด้านตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารได้ดีมากกว่า และอำนาจการสั่งการข้ามหน่วยงานจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
ถ้ายังไม่มีมาตรการเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม การลดระดับภัยพิบัตินั้นจะเป็นเพียงการ “ตัดภาระ” ให้ระดับจังหวัด
แต่จะไปคาดหวังอะไรได้ แค่เขียนข้อความแจ้งเตือนประชาชนในช่วงวิกฤต ยังไม่ประสีประสา คงได้เห็นแค่วัฒนธรรมการปัดสะหวะคลอดออกมาจาก กองอำนวยการ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง และกองบัญชาการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติต่อไปอีกเรื่อยๆ นานนับศตวรรษ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนองค์กรทั้งสอง
และอีกสำนักใน กรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย ที่จะปัดสะหวะต่อไปอีกยาวนาน คือศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ