วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

ภาวะหน้าด้าน ในสังคมไทยให้ความหมายว่า ไม่มีความรู้สึกอายในสิ่งที่ควรอาย / การตั้งใจกระทำโดยตรงข้ามต่อหลักการ ต่อคุณค่าในสังคม ต่อสิ่งที่ตนเองเคยป่า่วประกาศหรือแสดงต่อผู้คนให้รับรู้ (การกลับกลอกไปมา)

การคงอยู่หรือการดำเนินไปอย่างต่อเนื่องของภาวะหน้าด้านในสังคมก็เพราะ

1.ได้รับการค้ำยันจากความถูกต้องทางกฎหมาย หรืออำนาจบังคับอย่างเป็นทางการในสังคม  ตั้งแต่การตีความข้อความข้อกฎหมายที่บิดเบือน ไปจนถึงการเข้าไปกำกับกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามความต้องการได้

2.เป็นการแสดงอำนาจ แสดงอิทธิพล แสดงพลังในการชี้นำสังคมของกลุ่มคนที่มีอำนาจในระบอบอำนาจนิยม ที่ทำให้การถกเถียง ความคิดเห็นร่วม การตรวจสอบ การอยู่ในสายตาสาธารณะมีอย่างเบาบางในสังคม  เปิดโอกาสให้ความหน้าด้านกระจายตัวออกไปได้อย่างกว้างขวาง

การกระจายตัวของความหน้าด้านได้กระจายตัวจากชนชั้นนำมายังชนชั้นชายขอบ ไม่เว้นแม้กระทั่งกลุ่มคนเปราะบาง กลุ่มคนที่ประสบภัยพิบัติ ที่มีคนหน้าด้านในระบอบรัฐราชการปรสิตเป็นสื่อกลางในการแพร่ความหน้าด้าน  ทำให้เมื่อเมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้นเมื่อใด  ภาวะหน้าด้านก็จะปรากฏแพร่หลายขึ้นเมื่อนั้น  เช่น

1.การบิดเบือนตัวเลข บิดเบือนข้อมูลของคนหน้าด้านในระบอบรัฐราชการปรสิต เมื่อเห็นว่าตัวเลขนั้นจะแสดงถึงความด้อยประสิทธิภาพในการทำงานก็จะบิดเบือนตัวเลขให้ตำ่ลง โดยจะอ้างให้ลดความละอายให้กับตนเองว่า เกรงจะเกิดแตกตื่น/ประชาชนตื่นตระหนก   แต่เมื่อต้องมีการจัดซื้อจัดจ้าง ก็จะบิดเบือนข้อมูล/ตัวเลขให้สูงขึ้นจะได้จัดซื้อจัดซื้อได้ปริมาณมาก

2.ความพยายามในการปฏิบัติตนของผู้ประสบภัยพิบัติ ให้เข้ากับความหน้าด้านในระบอบรัฐราชการปรสิต  หลักคุณค่าไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด ไม่แยแสต่อหลักคิดทางศาสนาที่จะนำมาใช้กำกับ หรือนำมาวางบรรทัดฐานต่างๆ ให้เกิดขึ้นยามประสบภัยพิบัติ ไม่แยแสต่อพฤติกรรมหน้าด้านที่ตนเองได้รับประสบต่อหน้าต่อตา

การเปลี่ยนผ่านการแพร่กระจายภาวะหน้าด้านในสังคม  จะต้องมีการปฏิวัติการให้คุณค่าทางวัฒนธรรม  วัฒนธรรมและที่มาของผู้คนที่แตกต่างกัน ล้วนคือรากฐานสำคัญที่จะทำให้สังคมเดินหน้าต่อไปในทิศทางต่างๆ อย่างยั่งยืนปราศจากความรุนแรง/ปราศจากหายนะ

Search