วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

แม้ในเว็บไซต์นี้ จะพูดถึงแต่ความเลวร้ายต่างๆ นานาของมนุษย์  แต่หนทางที่จะนำเราสู่สังคมนิรภัยนั้น  เราต้องเดินในแนวทางที่มนุษย์เรานั้นมีความดีลึกๆ ซุกซ่อนอยู่  และพร้อมที่จะให้คุณค่าแก่มวลมนุษย์ในทุกมิติ

คุณความดีอะไรเล่าที่เป็นแนวทางสู่สังคมนิรภัย

ไม่มากมายในแนวทางสู่สังคมนิรภัย  เพียงคุณความดีที่ประกอบสร้างได้ง่ายๆ ๒ ประการ คือ

1.ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

2.ความไว้เนื้อเชื่อใจ

เราๆ ท่านๆ ไม่ใช่เทวดานางฟ้ากันหรอกครับ  ในด้านสาธารณภัยเราอาจจะไม่ต้องจำเป็นต้องฝืนใจ ฝืนส่งรอยยิ้มให้แก่มนุษย์ด้วยกันก็ได้  รอบๆ ตัวท่านหรือระบบนิเวศของท่าน  ยังมีธรรมชาติรอบตัว ทั้งที่มองเห็น สัมผัสได้ง่ายหรือรับรู้ได้ง่าย  ไปจนถึงธรรมชาติที่สัมผัสได้ไม่ง่ายนัก มีมนุษย์น้อยคนนักที่จะสัมผัสได้ (ต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยให้เกิดการรับรู้ว่ามีจริง แต่สัมผัสอื่นๆ ของร่างกายก็มีมนุษย์เพียงส่วนน้อยที่แม้จะไม่ใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ก็ใช้จิตที่ฝึกดีแล้วสามารถสัมผัสได้)

ลองนึกดูและฝึกสัมผัสกับธรรมชาติด้วยจิตของท่าน บนพื้นฐานคุณความดี ๒ ประการดังกล่าวข้างต้น

ปัญหาอุปสรรคอะไรเล่าที่เรากลับนับวันจะมีสาธารณภัยเพิ่มขึ้นๆ ทุกวันๆ

มีปัญหาอุปสรรคเพียงข้อเดียวเท่านั้นที่ส่งผลอย่างมีนัยยะทางสถิติ คือ การกระทำหรือกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่มาจากนโยบาย/ความต้องการของผู้มีอำนาจ (พ่อค้า นักลงทุน ข้าราชการปรสิต นักการเมือง)ที่ไม่เชื่อมั่นประชาชนและไม่เคารพความคิดเห็นของประชาชน (ยกตัวอย่าง เช่น พื้นที่ป่าไม้ของไทยหดหายไปในเวลาอันรวดเร็ว ดูผิวเผินจะคล้ายกับว่าเป็นเพราะคนไร้อำนาจ แต่แท้จริงแล้วการหายไปของพื้นที่อย่างรุนแรงนั้น เกิดมาจากคนที่มีอำนาจ ฯลฯ )