วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปี  องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันน้ำโลก(world water day)เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับทรัพยากรน้ำในมิติต่างๆ กัน ตั้งแต่ปี  พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา

แม้ปริมาณของน้ำทางองค์ประกอบทางเคมี จะมีมากมายมหาศาลบนโลกนี้  97 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำทั้งหมดบนโลกเป็นน้ำทะเลในมหาสมุทร มีส่วนที่เหลือเพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นน้ำจืด ซึ่งหากแบ่งน้ำจืดออกเป็น 100 ส่วน ประมาณ 68.7 ส่วน ถูกกักเก็บในรูปแบบของน้ำแข็ง หิมะ อีก 30.1 ส่วนเป็นน้ำใต้ดิน ประมาณ 0.9 ส่วน เป็นความชื้นในดินและชั้นบรรยากาศ ดังนั้นจึงเหลือน้ำจืดเพียง 0.3 ส่วนเท่านั้นที่เป็นน้ำผิวดินที่มนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้  น้ำสะอาดกลับมีปริมาณน้อยนิดและกำลังร่อยหรอลงเรื่อยๆ

ข้อมูลจากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น  ระบุว่า ทุกวันนี้บนโลกของเรา มีปริมาณน้ำสะอาดที่จะสามารถใช้ดื่มได้ทันทีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ขณะที่มนุษย์หนึ่งคน  จะดื่มน้ำวันละ 2 ถึง 4 ลิตรต่อวัน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อเราพูดถึงการบริโภคน้ำของมนุษย์ มันมีความหมายที่กว้างกว่าการดื่มน้ำเพียงอย่างเดียว   และปริมาณการบริโภคน้ำต่อคนต่อวันก็จะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีการบริโภคน้ำมากที่สุดในโลก มีการบริโภคน้ำถึง 550 ลิตรต่อคนต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ปริมาณการบริโภคน้ำก็อาจเพิ่มสูงกว่านี้มาก หากเรานับรวมการใช้น้ำในกระบวนการผลิตอาหารแต่ละชนิด เนื่องจากการบริโภคน้ำถึงร้อยละ 70 ของโลก เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตผลิตผลทางการเกษตร เช่น การผลิตอาหารสำหรับมนุษย์หนึ่งคนสำหรับการบริโภคหนึ่งวัน ต้องใช้น้ำมากถึง 2,000 ถึง 5,000 ลิตร การเลี้ยงวัวเพื่อให้ได้เนื้อหนึ่งกิโลกรัม ต้องใช้น้ำถึง 13,000 ถึง 15,000 ลิตร และการปลูกข้าวสาลี 1 กิโลกรัม ก็ต้องใช้น้ำถึง 1,500 ลิตร

ในขณะที่ประชาชนอีกหลายพันล้านคน   ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอาหาร และคุณภาพน้ำไม่ได้มาตรฐานอย่างเช่นทุกวันนี้ เราจึงไม่สามารถละเลยปัญหาการใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือยได้อีกต่อไป

————-66666666666666666————–