กฎหมายที่มุ่งคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตร่างกาย นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา รัฐธรรมนูญทุกฉบับของไทยก็รับรองหลักประกันความปลอดภัยในต่อชีวิตร่างกายและทรัพย์สินมาตลอด
ในระบบรัฐธรรมนูญของไทยในปัจจุบัน นอกจากหลักสำคัญในมาตรา 31 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แล้ว การประกันความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินยังปรากฏให้เห็นว่าเป็น “หน้าที่” ของรัฐ โดยมีการระบุไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 61 วรรคแรกว่า
“รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล จัด
ระบบงานของกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ และอำนวยความยุติธรรม
แก่ประชาชนอย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกัน รวมทั้งจัดระบบงานราชการ และ
งานของรัฐอย่างอื่นให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน…”
ดังกล่าวแล้วว่าหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนนี้มิได้จำกัดเฉพาะหน้าที่ของรัฐที่จะงดเว้นไม่ล่วงละเมิดหรือก่อภยันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนเท่านั้น แต่ยังกินความไปถึง หน้าที่ปกป้องคุ้มครองบุคคลจากการทำร้ายหรือก่อภยันตราย โดยบุคคลอื่น ๆ ด้วย
ดังเช่นที่เคยมีตัวอย่างคดีรัฐธรรมนูญของเยอรมันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่รัฐออกกฎหมายยอมให้หญิงอาจทำแท้งได้โดยเสรีภาพในกำหนดเวลา 12 สัปดาห์ แรกนับแต่ตั้งครรภ์ ย่อมขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานในชีวิตร่างกายของทารกในครรภ์ และแม้หญิงจะมีสิทธิเสรีภาพที่จะกำหนดชะตากรรมของตนเอง แต่เสรีภาพดังกล่าวย่อมอยู่ใต้บังคับแห่งสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายของทารกในครรภ์ อย่างไรก็ดีหน้าที่คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนนี้ย่อมมีขอบเขต ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับขนาด
ประเภท และความใกล้จะถึงแห่งภยันตรายในแต่ละกรณี ตัวอย่างเช่น เมื่อมีกลุ่มผู้ก่อการร้ายจับตัวบุคคลสำคัญไปเป็นตัวประกันและข่มขู่ว่า หากรัฐไม่ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของกลุ่มตนก็จะฆ่าตัวประกันเสีย ดังนี้รัฐย่อมต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการคุ้มครองชีวิตของบุคคลที่ถูกจับเป็นตัวประกัน กับ การคุ้มครองความปลอดภัยของบุคคลในสังคมโดยส่วนรวม ดังเช่นที่ศาลรัฐธรรมนูญของเยอรมันเคยปฏิเสธคำร้องของผู้มีส่วนได้เสียในชีวิตของตัวประกัน ซึ่งร้องขอให้ศาลสั่งให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ก่อการร้ายที่ต้องโทษจำนวน 11 คน ตามข้อเรียกร้องของผู้ก่อการร้าย เพื่อแลกกับชีวิตของตัวประกัน คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญปฏิเสธคำร้องทั้ง ๆ ที่เห็นได้ว่าการสั่งปล่อยตัวผู้ต้องโทษตามคำร้องอาจช่วยให้ตัวประกันไม่ต้องเสียชีวิตได้
หน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองชีวิตร่างกายของราษฎรนี้ นอกจากจะคลุมถึงหน้าที่ป้องกันภยันตรายจากการถูกทำร้ายจากบุคคลทั่วไปแล้ว ยังอาจกินความกว้างออกไปรวมถึง “หน้าที่รักษาเยียวยา” อันได้แก่หน้าที่ให้บริการสาธารณสุข หรือการรักษาพยาบาลอย่างได้มาตรฐานแก่ราษฎรที่มีเหตุบกพร่องทางสุขภาพอีกด้วย โดยนัยนี้หากราษฎรบางคนไม่อยู่ในฐานะที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วยตนเองได้ เพราะเป็นผู้ยากไร้ รัฐย่อมมีหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลและให้บริการสาธารณสุขโดยไม่ติดมูลค่า หลักข้อนี้ได้รับการรับรองไว้ในสาธารณภัยแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งมีผลบังคับอยู่ในเวลานี้ (มาตรา 52 วรรคแรก) ว่า
“บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และ
ผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ
โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
โดยที่ภยันตรายต่อชีวิตร่างกายอาจมีได้ทั้งจากน้ำมือมนุษย์ และภยันตรายจากธรรมชาติ ดังนั้น หน้าที่คุ้มครองชีวิตร่างกายตามรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจจำกัดเฉพาะการคุ้มครองจากภยันตรายจากการประทุษร้ายจากมนุษย์เท่านั้น แต่จะต้องครอบคลุมไปถึงการคุ้มครองป้องกันภยันตรายจากอุบัติภัย และสาธารณภัยด้วย และเมื่อเกิดภัยเหล่านี้ขึ้นแล้วรัฐยังมีหน้าที่รักษาเยียวยาและให้บริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานแก่ราษฎรทั่วไป และจะต้องให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ยากไร้โดยไม่คิดมูลค่าอีกด้วย
ในระบบกฎหมายของไทยในปัจจุบันนั้นเราอาจแยกภยันตรายออกเป็น 3 ประการ คือ ภยันตรายอันเกิดจากการประทุษร้ายหรือการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายอย่างหนึ่ง ภยันตราย
ประเภทที่สองคืออุบัติภัย หมายถึง ภยันตรายที่เกิดจากอุบัติเหตุ คือภัยที่เกิดจากเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้า ซึ่งอาจเป็นผลที่เกิดจากการกระทำโดยมิได้เจตนา หรือเกิดจากเหตุตามธรรมชาติ ส่วนภัยประเภทที่สามได้แก่ สาธารณภัย นั้น หมายถึง อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ตลอดจนภัยอื่น ๆ อันมีมาเป็นสาธารณะ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีผู้ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างการของประชาชน หรือความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือรัฐ รัฐมีหน้าที่ต้องคุ้มครองป้องกันสิทธิเสรีภาพของราษฎรให้ปลอดจากภัยทั้งสามประเภทนี้ และยังมีหน้าที่เยียวยารักษาผู้ประสบภัยอีกด้วย
สำหรับการคุ้มครองราษฎรจากภัยต่อชีวิตร่างกายนั้น นอกจากกฎหมายรัฐธรรมนูญอันกำหนดหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในชีวิตร่างกายและทรัพย์สินเป็นหลักทั่วไปแล้ว ยังมีประมวลกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินแก่ราษฎรเป็นการทั่วไป การบริหารจัดการเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของราษฎร เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย
นอกเหนือจากกฎหมายทั่วไปข้างต้นแล้ว กฎหมายสำคัญที่มุ่งคุ้มครองป้องกัน เยียวยาและบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสาธารณภัยได้แก่ พระราชบัญญัติป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2522 ซึ่งมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้บริหารจัดการและบังคับการตามกฎหมายเช่นกัน
อนึ่ง ในด้านการป้องกัน เยียวยาและบรรเทาความเสียหายอันเกิดจากอุบัติภัยนั้น แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติเป็นการทั่วไปไว้โดยเฉพาะ แต่เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการ และการให้ความคุ้มครองภยันตรายแก่ราษฎรเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ ก็ได้มีการตรากฎหมายที่กำหนดหน้าที่ของรัฐและบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองรักษาความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของราษฎรในลักษณะต่าง ๆ ไว้เป็นการเฉพาะอีกมากมายหลายฉบับ ทั้งในแง่ความปลอดภัยในเคหะสถาน ความปลอดภัยในที่สาธารณะ ในการทำงานในสถานที่ทำงาน และในการจราจร อาทิเช่น
– พระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2495
– พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
– พระราชบัญญัติป้องกันภยันตรายอันเกิดแต่การเล่มมหรสพ พ.ศ. 2464
– ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 (พ.ศ. 2515) ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน
– พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
– พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522
– พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522
– พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
– พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534
– พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456
– พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490
– พระราชบัญญัติป้องกันเรือโดนกัน พ.ศ. 2534
– พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494
– พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
– พระราชบัญญัติว่าด้วยการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2474
– ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 28 (พ.ศ. 2514) ว่าด้วยการบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว
– พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับสถานที่ผลิตปิโตรเลียมในทะเล พ.ศ. 2530
– พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490
– พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497
– พระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504
– พระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520
– พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511
– พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535
ฯลฯ
นอกจากนี้เพื่อให้การป้องกันอุบัติภัยดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และให้มีการวางนโยบาย แผนงาน การศึกษาวิจัย และการประสานงานเกี่ยวกับสาเหตุ และมาตรการป้องกันอุบัติภัย รัฐบาลยังได้ตราระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2526 และต่อมาได้ปรับปรุงและตราขึ้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2539 และ พ.ศ. 2553 ตามลำดับ