การพัฒนาการจัดการภัยพิบัติเชิงรุกอย่างยั่งยืน
กระบวนการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่ก่อให้เกิดภัยพิบัติ เป็นกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างช้าๆจนยากที่จะสังเกตได้และที่เกิดอย่างเข้มข้นรวดเร็วในรูปแบบและอัตราของความรุนแรงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติเพิ่มมากขึ้น
และวิกฤตทางสังคมจากการกระทำของมนุษย์ที่สร้างความเสียหายร้ายแรงเป็นกระบวนการที่มีโครงสร้างที่สลับซับซ้อน มีความหลากหลายแตกต่างกัน มีที่มาจากมูลเหตุปัจจัยทั้งภายในและภายนอกจำนวนมากซึ่งเกี่ยวข้องกัน ถึงแม้จะมีบริบทและมีเป้าหมายเดียวคือความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
แต่ที่ผ่านมาวิธีการจัดการภัยพิบัติมักถูกกำหนดมาจากกระบวนทัศน์ควบคุม ซึ่งเน้นการควบคุมบทบาทหน้าที่ขององค์กร/สถาบันทางสังคม สภาพดังกล่าวทำให้การพัฒนาวิธีการจัดการและแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆไม่สามารถใช้ได้ แต่ต้องอาศัยวิธีคิดใหม่และการบริหารจัดการแบบใหม่เพื่อที่จะไม่ต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงและความเสี่ยง
การบริหารจัดการให้ทันกับปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงและวิกฤตทางสังคมดังกล่าว กรม ปภ.ควรมุ่งเน้นบริหารจัดการให้บรรลุผล ๒ แนวทาง คือ
๑) รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ๒ ลักษณะ คือ
– รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง (ช่วงก่อนที่จะเกิดภัย/มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยไปเรื่อยๆไม่รุนแรงเห็นไม่ชัดเจน ผลกระทบเล็กน้อยยากต่อการสังเกตุ)
– รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เป็นวงจร (ช่วงขณะเกิดภัย/เปลี่ยนแปลงรุนแรงเห็นได้ชัดเจนเกิดความเสียหาย)
๒) เป็นกรมที่เป็นเครื่องมือของประชาธิปไตย
การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เราต้องมองให้เห็นถึงความไม่ยั่งยืนของปรากฏการณ์ต่างๆ บนพื้นฐานวิธีคิดที่เป็นกระบวนระบบที่เป็นองค์รวมในการวิเคราะห์พลวัตของปรากฏการณ์อันซับซ้อนและเชื่อมโยงกันหลายระดับที่เกิดขึ้นด้วยมโนทัศน์การพัฒนาใหม่ๆ โดย
(๑)ใช้พลังอำนาจของระบบการติดต่อสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือรวบรวมข้อมูลและแจ้งเตือนภัย
(๒)สร้างเสริมบรรยากาศและกลไกเกื้อหนุนให้ประชาชนร่วมมือทำงานเพื่อสังคมให้ทั่วถึงมากขึ้นและเห็นเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อให้รู้ทันการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ
(๓) ส่งเสริมนวัตกรรม รูปแบบกิจกรรมของชุมชนผ่านเครื่องมือกลุ่มแผนที่ กลุ่มแบบบันทึก กลุ่มแผนผังเชิงระบบ และกลุ่มเครื่องมือด้านวิถีชีวิตและการเรียนรู้ให้ประชาชนในชุมชนได้คิด ได้ทดลองทำ ได้ก่อร่างโครงสร้างการพัฒนาด้วยตัวเอง พัฒนาศักยภาพในการพึ่งพาตนเองเพื่อให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
การผนึกกำลังดังกล่าว จะสามารถประมวลผลข้อมูล วิเคราะห์สรุปแนวทางการปรับตัวและพัฒนาศักยภาพยับยั้งหรือเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องไม่ให้พัฒนารูปแบบไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เป็นวงจร ทั้งนี้ มีตัวบ่งชี้ความสำเร็จ คือ ระบบคุณค่าและระบบทุนชุมชน
การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เป็นวงจร เมื่อไม่สามารถยับยั้งวงจรได้ต้องมีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงโดยพัฒนาความพร้อมรับมือ ๔ ด้าน คือ
(๑)เตรียมพร้อมสำหรับการล่มสลายของระบบรัฐหรือระบบสังคม จนเกิดความปั่นป่วนโกลาหล แม้กรมจะสามารถตั้งชุมชนที่เข้มแข็งขึ้นเป็นจำนวนมาก อย่างไรเสียก็ต้องถูกฉุดให้ล่มสลายตามสังคมใหญ่ ต้องเร่งผนึกกำลังกับกรมอื่นๆเป็นพันธมิตรในการสร้างชุมชนเปลี่ยนผ่าน ซึ่งตั้งอยู่บนฐานการพึ่งพิงตนเองอย่างสมบูรณ์แบบ
(๒)สร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการวิกฤตขนาดใหญ่หรือสถานการณ์ผิดปกติขนาดใหญ่ นอกเหนือจากการพัฒนาศูนย์การสั่งการแก้ไขสถานการณ์วิกฤตเฉพาะหน้าให้เข้มแข็ง
(๓)ในยามวิกฤตเป็นศูนย์ความรู้หรือคลังองค์ความรู้เพื่อนำเสนอถึงข้อพิจารณาต่างๆให้รัฐบาลตัดสินใจเลือกในการแก้ไขปัญหา
(๔)วางกรอบการจัดการหรือพิมพ์เขียวจัดการภัยพิบัติใหญ่ๆ เชิงระบบที่มีความจำเป็นเร่งด่วนจะต้องทำอะไรก่อนหลังในห้วงระยะเวลาที่ยาวพอสมควรเพื่อให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนร่วมกันทั้งประเทศ
การเป็นกรมที่เป็นเครื่องมือของประชาธิปไตยนั้น นโยบาย แผนปฏิบัติราชการ โครงการและกิจกรรมล้วนตอบสนองต่อฉันทามติต่อความต้องการของประชาชนและทุกกระบวนการ มีประชาชนเป็นหุ้นส่วน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผนและร่วมรับประโยชน์
ฉันทามติ ที่กรม ปภ.สร้างได้ในปัจจุบัน ประมาณ ๔,๐๐๐ ฉันทามติ แต่น่าเสียดาย ที่ฉันทามติเหล่านั้น อยู่บนกระดาษชาร์ท บางส่วนถูกนำไปชั่งเป็นกิโลขายแล้วหลายๆจังหวัด มีการรายงานแต่รูปภาพการแสวงฉันทามติของพี่น้องประชาชน ในผลการดำเนินงานของกรม
การจัดการภัยพิบัติเชิงรุกอย่างยั่งยืนต้องปรับการบริหารจัดการให้เป็นการบริหารจัดการแบบตื่นรู้ปรากฏการณ์และตระหนักต่อฉันทามติของประชาชนในการนำไปสู่การปฏิบัติตามแนวทาง ๒ ประการดังกล่าวข้างต้น ซึ่งไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของค่านิยมและทัศนคติที่มาจากบรรทัดฐานชุดเดิมหรือตรรกะแบบเดิมอีกต่อไป
ภายในระยะเวลา ๒๐ ปี กรม ปภ.จะเป็นองค์กรแห่งความร่วมมือ มีการบริหารจัดการอย่างสับสนอลหม่านภายใต้สภาวะแวดล้อมที่แปรปรวนแต่มีพันธกิจที่ชัดเจน ความรู้ของคนในองค์กรเป็นสิ่งสำคัญกว่าความพึงพอใจในการทำงานและมีรูปแบบองค์กรแบบวัฎจักร(The Cyclical Organization Model)เป็นตัวแบบที่อยู่ในวงจรของความมีระเบียบ(Order)และความไร้ระเบียบ(Chaos)
00000000000000000000000000000