ในพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้งฝนตกน้อย เกษตรกรที่ปลูกพืชควรมีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งและมีการจัดการน้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้พืชเจริญเติบโต สามารถผ่านพ้นช่วงที่แห้งแล้งได้ โดยควรมีการให้นำ้ด้วยวิธีประหยัดเท่าที่พืชต้องการและเพียงพอกับการเจริญเติบโตของพืช การให้นำ้อย่างประหยัดยังทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่ให้น้ำได้มากขึ้น
การจัดการน้ำอย่างประหยัด
๑. การให้น้ำแบบประหยัดเหนือผิวดิน การให้น้ำแบบประหยัดเป็นการให้น้ำแก่พืชครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้งด้วยอัตราที่ตำ่และไม่ครอบคลุมเต็มพื้นที่บริเวณรากพืชทั้งหมด เช่น การให้น้ำแบบหยด การให้น้ำแบบมินิสปริงเกอร์ ซึ่งช่วยประหยัดน้ำได้มาก การระเหยน้ำจากผิวดินก็น้อยกว่าการให้น้ำวิธีอื่นๆ โดยต้องมีแหล่งเก็บกักน้ำ เครืิ่องสูบน้ำ เครื่องกรองน้ำ ท่อพีวีซี ท่อพีอี หัวหยด และหัวเหวี่ยงน้ำ ปัจจุบัน อุปกรณืการให้น้ำราคาถูกลงมากและมีแหล่งจำหน่ายอย่างแพร่หลาย ต้นทุนของการวางระบบการให้นำ้แบบหยดและมินิสปริงเกอร์เฉลี่ย 5,000 – 6,000 บาทต่อไร่ มีอายุการใช้งานนายหลายปี เกษตรกรที่ปลูกผักและไม้ผลสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น เมื่อใช้ระบบการให้น้ำแบบประหยัด และสามารถเลือกวิธีการให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูกได้โดยมีประสิทธิภาพการให้น้ำถึง 80-98 เปอร์เซ็นต์ ใช้ได้กับดินทุกประเภท ประหยัดแรงงาน เวลา และพลังงานในการให้นำ้
๒. การให้น้ำแบบประหยัดใต้ผิวดิน เป็นการให้นำ้ทางใต้ผิวดินด้วยวัสดุที่หาง่ายและราคาถูกเกษตรกรก็สามารถปฏิบัติได้ ได้แก่
- การให้น้ำด้วยตุ่มดินเผา นำตุ่มดินเผาที่มีรูพรุนและหาง่ายในท้องถิ่น ซึ่งมีความจุ 5-7 ลิตร มาฝังดินใกล้โคนต้นพืช โดยให้ฝาตุ่มอยู่ในระดับผิวดิน ใส่น้ำให้เต็มแล้วปิดฝา เพื่อป้องกันการระเหยน้ำจากตุ่มจะค่อยๆซึมออกมาทางรูพรุนรอบตุ่ม เมื่อน้ำในตุ่มหมดก็คอยเติมให้เต็มซึ่งใช้เวลาประมาณ ๑๐ วันต่อครั้ง วิธีนี้เหมาะสมสำหรับไม้ยืนต้นหรือไม้ผลทั่วไปที่ยังอายุน้อยระยะเริ่มปลูก เพื่อให้ตั้งตัวได้ในระยะ ๒-๓ ปีแรก
- การให้น้ำด้วยขวดพลาสติกหรือขวดแก้ว นำขวดพลาสติกหรือขวดแก้วมาใส่น้ำจนเต็มขวด แล้วคว่ำขวดลงไปในดินลึกประมาณ ๑๐ ชม. โดยวางบริเวณโคนต้น ประมาณต้นละ ๒ ขวด การเติมน้ำจะเติมประมาณ ๔-๕ วันต่อครั้ง สำหรับขวดที่มีขนาด ๗๕๐ ซีซี
- การให้น้ำด้วยแกลลอนน้ำมันเครื่อง นำแกลลอนที่เหลือใช้มาเจาะรูด้านข้าง แล้วใช้ด้ายดิบเส้นใหญ่ตัดให้ยาว ๑ นิ้ว มาอุดรูที่เจาะไว้ให้แน่น เมื่อใส่น้้ำในแกลลอน น้ำจะค่อยๆหยอออกมาตามเส้นด้าย นำแกลลอนไปฝังดินห่างจากโคนต้น ๑ คืบ โดยหันด้านที่น้ำหยดเข้าหาโคนต้น การฝังแกลลอนควรให้ปากแกลลอนโผล่พ้นดินเล็กน้อย เพื่อความสะดวกในการเติมน้ำและควรปิดฝาหลวมๆ
- การให้น้ำใต้ผิวดิน อาจทำได้ 2 แบบ คือ โดยการให้น้ำในคู และการให้น้ำไหลเข้าในท่อซึ่งฝังไว้ในดิน
ความเหมาะสม
– เหมาะกับดินที่มีเนื้อชนิดเดียวกัน
– เนื้อดินมีการดูดซึมน้ำมากพอที่จะปล่อยให้น้ำไหลลงในดินได้เร็วทั้งแนวราบและแนวดิ่ง
– พื้นที่ควรจะราบเรียบและเกือบอยู่ในแนวราบ
– พืชที่เหมาะสม คือ ผัก พืชไร่ หญ้าเลี้ยงสัตว์ และไม้ดอกต่าง ๆ แต่ไม่เหมาะสม กับพืชสวนและพืชยืนต้น
ลักษณะที่สำคัญ
– วิธีนี้ใช้กับดินที่มีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ และ อัตราการดูดซึมสูง ซึ่งไม่สามารถให้ น้ำทางผิวดินได้
– การระเหยน้ำจากผิวดินต่ำ
– สามารถควบคุมน้ำใต้ดินให้อยู่ในระดับที่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อพืชที่อายุต่าง ๆ ได้
– สามารถใช้เป็นระบบระบายน้ำได้ด้วย
– ต้องการแรงงานในการให้น้ำน้อย
– ประสิทธิภาพในการให้น้ำสูง
ข้อจำกัด
– ไม่สามารถใช้ได้ดีกับน้ำที่มีเกลือผสมอยู่มาก
– พื้นที่ข้างเคียงจะต้องมีการให้น้ำวิธีนี้ด้วยมิฉะนั้นจะมีปัญหาเรื่องการระบายน้ำ
– การงออกของเมล็ดอาจจะไม่สม่ำเสมอถ้าไม่มีการควบคุมระดับน้ำใต้ดินให้มีการซึมอย่างสม่ำเสมอ
– สามารถใช้ได้กับพืชเพียงบางชนิด พืชที่มีรากลึก เช่น พืชสวนและพืชยืนต้นไม่เหมาะสมที่จะให้น้ำโดยวิธีนี้
– ปุ๋ยที่ให้แก่พืชแผ่กระจายไปทั่วเขตรากได้ช้ากว่าแบบให้น้ำทางผิวดินหรือแบบฉีดฝอย