มีข้อสังเกตว่าสังคมฝรั่งกับสังคมไทยมองชีวิตมนุษย์แตกต่างกัน แม้ทั้งสังคมฝรั่ง และสังคมไทย ยกย่องบูชาคนดี คนทำประโยชน์แก่สังคมประเทศชาติ แต่ยกย่องต่างกัน คือ
- ไทยยกย่องให้คล้ายเทวดา หรือผู้บริสุทธิ์ บุคคลสาธารณะ หรือคนเก่งคนดี ถูกยกย่องให้เป็นคล้ายเทวดา และใครจะมาลบหลู่ไม่ได้ แม้สิ่งนั้นจะเป็นเรื่องจริง สาวกจะออกมาปกป้อง โดยบางครั้งก่อความรุนแรง สังคมของเราจึงเป็นสังคมปกปิดเรื่องราวผิดศีลธรรมของบุคคลสาธารณะ ทำให้บุคคลสาธารณะปลอดจากการควบคุมกำกับเชิงสังคม และประพฤติผิดได้ง่ายและซ้ำๆ ที่สำคัญคือก่อความเสื่อมแก่ผู้นั้นเอง ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ห้ามเอาด้านลบหรือส่วนเสียมาเปิดเผย
- แต่ฝรั่งเขายกย่องในฐานะสามัญชนหรือคนธรรมดา ที่ยังมีกิเลสหรือยังมีข้อตำหนิในบางเรื่อง เช่น การเผยแพร่อย่างกว้างขวางว่า โธมัส เจฟเฟอร์สัน มีทาสผิวดำเป็นนางบำเรอ และมีลูกด้วยกันออกเผยแพร่เป็นที่รู้กันทั่วไป รวมทั้งในวิกิพีเดีย /นายทหารหญิงพนักงานขับรถให้แก่นายพล ไอเซนฮาวร์ สมัยเป็นผู้บัญชาการทหารพันธมิตรภาคพื้นยุโรป ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ เปิดโปงชีวิตลับทางเพศระหว่างตนกับ ไอเซนฮาวร์ คนอเมริกันเขาก็เฉยๆ ไม่โวยวายว่าเป็นการลบหลู่วีรบุรุษของชาติ เขาแยกแยะระหว่างการยกย่องให้เกียรติ แสดงความกตัญญู ออกจากเรื่องราวของชีวิตจริงในฐานะเป็นมนุษย์ตามธรรมชาติ คนในประวัติศาสตร์แม้จะมีตำหนิในบางเรื่องปรากฎขึ้นภายหลัง เขาก็ยังยกย่อง และคนที่ทำให้ความจริงเรื่องตำหนินั้นก็ไม่โดนประชาทัณฑ์
แล้วเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องอย่างไรกับภัยพิบัติหรือสาธารณภัย
ด้วยลักษณะสังคมไทยดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดอภิสิทธิ์ชนขึ้นมา ประกอบสร้างปัจจัยเชิงสาเหตุของภัยพิบัติในหลายๆ ลักษณะ เช่น
- การถูกละเว้นการลงโทษเมื่อฝ่าฝืนกฎหมายการควบคุมมลพิษ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างๆ
- สร้างนโยบายที่เอื้อต่อการกอบโกยทรัพย์สินของตนและพวกพ้อง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านภัยพิบัติ
- สร้างอิทธิพลต่อการปิดบังอำพรางในการกระทำตามข้อ 1 และข้อ 2 ด้วยการปิดกั้นกำจัดการสื่อสาร ไม่สนับสนุนการศึกษา การวิพากษฺวิจารณ์ ทำให้สังคมมืดมนอยู่กับปัญหาภัยพิบัติ