บทบาทหน้าที่ของ อปท.
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550
มาตรา ๒๐ กําหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่มีหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในเขตท้องถิ่นของตน โดยมีผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่นั้นเป็นผู้รับผิดชอบ ในฐานะผู้อํานวยการท้องถิ่น
มาตรา ๒๑ บัญญัติว่าเมื่อเกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยขึ้น ในเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่ใด ให้ผู้อํานวยการท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่นั้นมีหน้าที่เข้าดําเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยเร็ว และแจ้งให้ผู้อํานวยการอําเภอที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่นั้นและผู้อํานวยการจังหวัดทราบทันที
เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น ผู้อํานวยการท้องถิ่นมีอํานาจสั่งการและปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัย มีอํานาจเรียกใช้อาคารสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ของหน่วยงานของรัฐและเอกชนในเขตพื้นที่เพื่อการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ใช้เครื่องมือสื่อสารของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนในพื้นที่ ขอความช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น สั่งห้ามเข้า หรือให้ออกจากพื้นที่ อาคารหรือสถานที่ที่กําหนด รวมทั้งจัดการสงเคราะห์ผู้ประสบภัย
มาตรา ๒๓ บัญญัติว่าเมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้นในเขตพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห้งพื้นที่ใด ให้เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการท้องถิ่นซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกันหรือใกล้เคียงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่นั้นที่จะสนับสนุนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกิดขึ้น
แนวทางการให้ความช่วยเหลือ
๑. ด้านงบประมาณ
ดำเนินการตั้งงบประมาณรายจ่ายประเภทสำรองจ่าย ให้เพียงพอต่อการเผชิญเหตุสาธารณภัยตลอดปี และนำเงินสำรองจ่ายไปดำเนินการช่วยเหลือประชาชนอย่างรวดเร็วเป็นลำดับแรก เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น และจ่ายเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นส่วนรวมเท่านั้น โดยให้ถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0313.4 / ว 667 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2545
หากเงินสำรองจ่ายจ่ายดังกล่าวไม่เพียงพอ สภาท้องถิ่นสามารถอนุมัติให้โอนงบประมาณที่เหลือจ่าย หรือโอนรายการที่ยังไม่จำเป็นไปตั้งจ่ายเพิ่มเติม ได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2541 ข้อ 26 หรือผู้บริหารท้องถิ่นสามารถยืมเงินสะสมไปใช้กรณีฉุกเฉินที่มีสาธารณภัยตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงิน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 ข้อ 91
และหากไม่เพียงพออีก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจขออนุมัติผู้บริหารท้องถิ่นจ่ายขาดเงินสะสมไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547
หากเงินงบประมาณไม่เพียงพอ ให้ขอรับการสนับสนุนจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ/จังหวัด(ก.ช.ภ.อ./ก.ช.ภ.จ.) ตามลำดับ
สำหรับงบประมาณในการแก้ไขปัญหาไฟป่าและการเผาในที่โล่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้จ่ายจากงบประมาณของตนเอง โดยให้ถือปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท ๐๘๐๘.๒/ว ๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๖
๒. ด้านวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบ ผู้อำนวยการท้องถิ่นมีอำนาจเรียกใช้อาคารสถานที่ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ของหน่วยงานของรัฐและเอกชนในเขตพื้นที่เพื่อการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ใช้เครื่องมือสื่อสารของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนในพื้นที่ และขอความช่วยเหลือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ตามที่บัญญัติไว้ใน พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๒๑ วรรคสอง
กรณีเกิดไฟป่าหรืออัคคีภัย ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนหรือร่วมดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านบุคลากร งบประมาณ อุปกรณ์และเครื่องมือ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยให้ถือปฏิบัติตามหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท ๐๘๙๑.๔/ ว ๒๑๒ ลงวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
๓. ด้านเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
กรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความประสงค์จะให้ความช่วยเหลือสนับสนุนบุคลากรปฏิบัติงานในท้องที่ที่เกิดสาธารณภัย โดยสามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไป ราชการได้ ทั้งนี้ จะต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่หรือ อปพร.ที่อยู่ใน ความรับผิดชอบไปปฏิบัติงานในท้องที่ที่เกิดสาธารณภัยตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยให้ถือปฏิบัติตามวิทยุสื่อสาร ด่วนที่สุด ที่ มท ๐๘๐๘.๒/ว ๙๑๐ ลงวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๐ และตามหนังสือกระทรวง มหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท ๐๘๐๘.๒/ว ๓๓๕๘ ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๓
๔. ด้านการบริหาร
จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้บูรณาการเครื่องมือเครื่องใช้ บุคลากร และวิธีการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วจัดให้มีการซักซ้อมแผนที่ได้จัดทำขึ้นตามเห็นสมควร เพื่อให้เกิดทักษะและความคล่องตัวในการปฏิบัติ
———————888888888888—————————–