วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

กรมทางหลวง และการทางพิเศษลงพื้นที่ไปชี้โบ้ชี้โบ้ถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก้าวก่ายอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสอบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ

สิ่งที่ควรพูดเวลาลงพื้นที่เกิดเหตุ เป็นเรื่องการอำนวยความสะดวก การให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ การยืนยันความโปร่งใสและความร่วมมือในการสอบสวน การแสดงความรับผิดชอบต่อมาตรฐานความปลอดภัย การชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการในอนาคต

  • ไม่ใช่รีบชี้สาเหตุโดยไม่มีผลสอบสวนทางวิศวกรรม ถือว่าเป็นการชี้นำสาเหตุก่อนมีผลสอบสวนอย่างเป็นทางการ จากสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและพนักงานสอบสวน
  • ไม่ใช่ไปพูดเบี่ยงเบนประเด็นไปที่เรื่องอื่น เพื่อให้ดูเหมือนว่าปัญหาอยู่ที่ระบบ ไม่ใช่ความบกพร่องของโครงการ เช่น อ้างว่า “ต้องแก้ไขระเบียบกรมบัญชีกลาง” จะเน้นเรื่องสมุดพกบันทึกและติดตามการปฏิบัติงานของผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ซึ่งระเบียบพัสดุ กำหนดให้ช่างควบคุมเขียนบันทึกประจำวันในการควบคุมงานก่อสร้างมาแปดสิบปีแล้ว

ในกรณีนี้ เป็นนิสัยอันดักดานของสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่ไม่ออกมาชี้แจงอะไรให้กับสังคมได้รับทราบ ปล่อยให้หน่วยงานที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนออกมาเบี่ยงเบนประเด็น

สิ่งที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะต้องออกมาให้ข้อมูลกับสังคมมีดังนี้

  • ข้อมูลที่หนึ่ง วันเกิดเหตุ ได้รับแจ้งเหตุและส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุและเก็บหลักฐาน
  • ข้อมูลที่สอง ภายใน 24ถึง 48 ชั่วโมงแรก มีการสอบปากคำพยาน และตรวจสอบเอกสารด้านความปลอดภัยของโครงการ และ มีการสั่งระงับการก่อสร้างชั่วคราว
  • ข้อมูลที่สาม ภายใน 7 วันแรก จะเรียกบริษัทรับเหมาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสอบสวน
  • ข้อมูลที่สี่ ภายใน 30 วัน จะมีรายงานฉบับสมบูรณ์ที่ระบุว่าใครต้องรับผิดชอบ และมีมาตรการป้องกันอุบัติเหตุในอนาคตอย่างไร ถ้าพบว่ามีการละเมิดมาตรฐานความปลอดภัย ควรส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี

หลบนับเงินอยู่ใต้โต๊ะไปเรื่อยๆ ก็ได้ อย่างนั้นหรือ