หลักการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ นอกจากจะยึดระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว ควรจะคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ ได้แก่
1. การให้ความช่วยเหลือโดยรัฐในปริมาณเท่าที่จำเป็น (Less aid)
ภาครัฐควรตั้งคำถามก่อนให้ความช่วยเหลือว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจโดยอาศัยการให้ความช่วยเหลือโดยรัฐในปริมาณที่น้อยกว่าที่ถูกร้องขอหรือวางแผนไว้ เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ
แท้จริงแล้วปริมาณเงินช่วยเหลือที่รัฐให้ไม่ว่ามากหรือน้อยจะไม่มีผลกระทบและไม่ทำให้เกิดการบิดเบือนต่อระบบเศรษฐกิจ หากการช่วยเหลือของรัฐสามารถแก้ปัญหาความล้มเหลวของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพการให้เงินช่วยเหลือมากขึ้นอาจทำให้ตลาดมีการแข่งขันมากขึ้นได้เช่นการให้เงินอุดหนุนแก่บางธุรกิจซึ่งมีปริมาณการผลิตน้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดของตลาดการช่วยเหลือเช่นนี้ไม่มีผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดเป็นต้น
2. การให้ความช่วยเหลือโดยรัฐที่เจาะจงกลุ่มผู้รับมากขึ้น (Better Targeted Aid)
รัฐจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือให้ถูกกลุ่มเพื่อให้มั่นใจว่าการช่วยเหลือนั้นจะแก้ไขสามารถปัญหาความล้มเหลวของตลาดได้และไม่ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด หรือหากการช่วยเหลือของรัฐทำให้กลไกตลาดถูกบิดเบือน รัฐต้องมีการชดเชยที่เหมาะสม
การจะทราบว่าตลาดล้มเหลวจริงหรือไม่เราไม่อาจหาดัชนีมาอธิบายได้ง่ายนักวิธีการหนึ่งที่อาจทำได้คือการชำเลืองดูประเทศรอบข้างว่ามีการช่วยเหลือโดยรัฐในกิจกรรมเดียวกันนั้นหรือไม่ หากมีประเทศจำนวนมากที่รัฐช่วยเหลือในกิจกรรมหรือธุรกิจนั้น เราอาจบอกได้ว่าในกิจกรรมนั้นตลาดมีความล้มเหลวจริงและอาจแก้ปัญหาได้ด้วยการให้ช่วยเหลือโดยรัฐ
อย่างไรก็ตามวิธีนี้ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน การที่รัฐของประเทศอื่นให้การช่วยเหลือในกิจกรรมนั้นไม่ได้หมายความว่าตลาดไม่สามารถทำงานได้เสมอไป การให้การช่วยเหลือของรัฐอาจเป็นผลมาจากปัจจัยอื่นก็เป็นได้เช่น การแข่งขันกันให้เงินอุดหนุนเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบประเทศอื่น เป็นต้น
3. การให้ความช่วยเหลือโดยรัฐที่สามารถติดตามได้ (Traceable Aid)
ระบบให้ความช่วยเหลือโดยรัฐนี้ต้องสามารถบอกได้ว่าความช่วยเหลือที่รัฐให้ไปนั้นไปถึงใครบ้างเท่าไรและต้องทำให้ระบบสามารถเอาความช่วยเหลือที่รัฐให้ไปนี้กลับคืนได้ถ้าพบว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมายตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสหภาพยุโรปซึ่งทำระบบการให้ความช่วยเหลือโดยรัฐให้สามารถติดตามได้เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกันให้เงินอุดหนุนผู้ประกอบการของตนเองในประเทศต่างๆ การมีระบบจะเป็นการป้องกันไม่ให้การแข่งขันกันให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือโดยรัฐเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตามการติดตามการให้ความช่วยเหลือโดยรัฐนี้อาจทำให้ต้นทุนในการบริหารจัดการสูงขึ้น ในบางกรณีการติดตามความช่วยเหลือว่าเป็นไปตามเงื่อนไขหรือไม่อาจทำให้สวัสดิการโดยรวมของประชาชนลดลง เมื่อเทียบกับกรณีไม่ให้การช่วยเหลือซึ่งประเด็นนี้ภาครัฐต้องพิจารณาให้ดีด้วยเช่นเดียวกัน
4. การให้ความช่วยเหลือโดยรัฐที่มีความยืดหยุ่น (Flexible Aid)
การกำหนดเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือที่เข้มงวดเกินไปในบางครั้งอาจทำให้รัฐไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ควรคุมจำเป็นต้องมีหลักการกฎเกณฑ์ที่แน่นอนแต่ในวิธีการนั้นต้องมีความยืดหยุ่นเช่นอาจมีการกำหนดกรอบการให้ความช่วยเหลือโดยรัฐชั่วคราวขึ้นเหมือนอย่างเช่นในกรณีของสหภาพยุโรป ที่กำหนดกรอบการให้ความช่วยเหลือโดยรัฐแบบชั่วคราวขึ้นเพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินทั้งหลายที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินซับไพร์มและวิกฤติหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นที่ยุโรป เป็นต้น กรอบการให้ความช่วยเหลือโดยรัฐชั่วคราวนี้จะเป็นสิ่งที่รับรองว่าทุกกลุ่มที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือนั้นจะได้รับการช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกันและทันท่วงที
5. การให้ความช่วยเหลือโดยรัฐในรูปแบบที่เหมาะสม (Proper Forms of Aid)
รูปแบบการให้ช่วยเหลือมีความสำคัญแต่ละปัญหามีวิธีการที่เหมาะสมที่แตกต่างกันซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณีไปไม่สามารถใช้วิธีเดียวเพื่อช่วยเหลือทุกคนตัวอย่างเช่น กรณีบริษัทขนาดเล็กที่มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ในยามที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาภัยพิบัติเกิดขึ้น ผู้ประกอบการเหล่านี้บางรายอาจต้องการกู้เงินเพิ่มบางรายอาจต้องการให้รัฐช่วยเรื่องหนี้เดิมที่มีอยู่รูปแบบในการช่วยเหลือโดยรัฐที่ เหมะสมคือการรับประกันเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการรายเล็ก การอุดหนุนด้านต้นทุนให้แก่ธนาคารในการปล่อยกู้แก่ผู้ประกอบการรายเล็ก การใช้คืนดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย (Interest rebates) เป็นต้นหรือกรณีผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินในขณะที่กำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างการดำเนินงาน รัฐอาจช่วยเหลือโดยการค้ำประกันเงินกู้ให้โดยจำกัดช่วงระยะเวลาเป็นต้น
xxxxxxxxxxxx