วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้กำหนดแนวทางที่จะยกระดับมาตรฐานการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ภายใต้วาระประเทศไทยปลอดภัย โดยใช้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธาณณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 ขับเคลื่อนการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัย เพื่อสร้างประเทศไทยให้เป็นเมืองปลอดภัย และพร้อมรับมือภัยพิบัติในทุกระดับอย่างทันท่วงที ดังนี้

1.การยกระดับมาตรฐานการจัดการสาธารณภัย

1.1 ขับเคลื่อนกลไกการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยทุกภาคส่วนยึดแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 เป็นกรอบแนวทางในการบริหารจัดการสาธารณภัย จัดทำแผนปฏิบัติการฯ ที่สอดคล้องกับบริบททางสังคมและสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ พร้อมปรับปรุงคลังข้อมูลสาธารณภัยแห่งชาติให้เป็นระบบ ถูกต้องครอบคลุมทุกประเภทภัย รวมถึงการพัฒนาระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติได้ทันท่วงที

1.2 ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการภัยพิบัติ โดยวางระบบงานและขยายเครือข่ายอาสาสมัครให้เป็นหน่วยสนับสนุนการจัดการสาธารณภัยของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ พร้อมเสริมสร้างศักยภาพชุมชนให้สามารถรับมือภัยพิบัติได้ด้วยตนเองในเบื้องต้น รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการจัดการภัยพิบัติผ่านกลไกการสื่อสารสาธารณะทุกรูปแบบ การจัดกิจกรรมรณรงค์ และกระบวนการฝึกอบรม

2. การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการจัดการสาธารณภัย

2.1 เพิ่มศักยภาพการปฏิบัติการรองรับสาธารณภัย โดยมุ่งส่งเสริมการฝึกการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในทุกระดับ โดยเลือกประเภทภัยและสถานที่จัดการฝึกตามสภาพความเสี่ยงภัยในแต่ละพื้นที่ พร้อมเชื่อมโยงการจัดการภาวะฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้องค์กรปฏิบัติการที่รองรองรับสาธารณภัยได้ทุกประเภทภัยและทุกระดับการจัดการ

2.2 พัฒนาระบบการสงเคราะห์และฟื้นฟูให้ดีและปลอดภัยกว่าเดิม โดยวางแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่รวดเร็ว ทั่วถึง เป็นธรรมและพัฒนาระบบการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้ผู้ประสบภัยดำเนินชีวิตได้ในช่วงที่เกิดภัย

3.การส่งเสริมความร่วมมือในการจัดการสาธาณณภัยระหว่างประเทศ

ขับเคลื่อนกลไกการจัดการภัยพิบัติระหว่างประเทศให้เป็นรูปธรรมในทุกมิติ โดยผลักดันบทบาทของประเทศไทยในการเป็นประเทศแกนนำด้านการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติ ภายใต้กรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พ.ศ.2558-2573 ควบคู่กับการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาประเทศที่เน้นมิติความปลอดภัยในทุกด้าน รวมถึงเชื่อมโยงแผนงานการปรับปรุงระเบียบมาตรฐานการปฏิบัติงานให้เทียบเท่าสากล และการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างอาเซียนให้มีความพร้อมในการรับมือและจัดการภัยพิบัติอย่างเป็นหนึ่งเดียว

4.การสร้างการสัญจรที่ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

มุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเข้มข้น ควบคู่กับการลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่ครอบคลุมทั้งคน ยานพาหนะ ถนนและสภาพแวดล้อม พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย รวมถึง เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ทั้งโครงสร้างองค์กร แผนงาน และงบประมาณเชิงบูรณาการรองรับภารกิจการสร้างความปลอดภัยทางถนน

วิเคราะห์สถานการณ์ความปลอดภัยของประเทศไทย

1.แนวทางที่กล่าวข้างต้น มีการขับเคลื่อนเฉพาะบางจุดบางประเด็น และที่ดำเนินการนั้นไม่บูรณาการ  ที่สำคัญที่สุดคือไม่มีการขับเคลื่อนในภาพรวมของประเทศ(หน่วยงานกลางเขียนแนวทางไว้ แต่ก็ไปทำบางจุด บางประเด็นในบางพื้นที่ (โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่เสี่ยง) ดังนั้น สรุปว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงถึง ร้อยละ 70 เนื่องจากภาครัฐสามารถรับมือได้เพียงร้อยละ 30

2.การสัญจรในเมืองไทยอันตรายอย่างยิ่งประเทศหนึ่งของโลก ปัจจุบันภาครัฐแก้ไขเฉพาะหลักกฎหมาย แนวทางปฏิบัติและข้อมูลสถิติการเกิด โดยไม่เคยจริงจังกับคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงคนที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างจริงจัง การบังคับใช้ก็เพียงเป็นเครื่องมือหาประโยชน์จากการกระทำผิดในปัจจัยที่ไม่ใช้สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดอุบัติเหตุ (ไม่สามารถควบคุมการขับขี่เร็ว และการดื่มสุราแล้วขับขี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ) ทำให้ปัญหายังคงอยู่ต่อไป

————————————————-