ทำไมผู้หญิงต้องมาทำเรื่องการจัดการภัยพิบัติ
การจัดการภัยพิบัติ ต้องมีการจัดการทั้งระดับชุมชนจนถึงระดับครัวเรือน ฉะนั้นเป็นเรื่องของทุกๆคน และผู้หญิงก็มีประเด็นในระดับครัวเรือนที่เป็นประโยชน์ ที่สำคัญผู้หญิงมักจะอยู่ที่บ้าน พ่อบ้านจะออกไปทำงานนอกชุมชน กลายเป็นว่าผู้หญิงอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และต้องพึ่งตัวเองหากภัยพิบัติเกิดช่วงเวลาดังกล่าว จึงจำเป็นที่ผู้หญิงต้องรับรู้เรื่องภัยพิบัติ และปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งบางครั้งอาจจะอยู่ในภาวะที่ต้องช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วยเช่นกัน
บทบาทของผู้หญิงในการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติเป็นเช่นไรแล้วทำไม่ผู้หญิงจึงต้องเข้ามามีบทบาท
ผู้หญิงเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ดังเช่นในพื้นที่ตำบลคลองประสงค์ ในช่วงที่เกิดภัยสึนามิ เมื่อปี 2547 ที่ผ่านมา ผู้ชายออกไปทำงานนอกพื้นที่ บ้างก็ไม่อยู่บ้าน เมื่อเกิดสึนามิผู้หญิงต้องวิ่งหอบลูกจูงหลานหนีด้วยความทุลักทุเล พรางโทรศัพท์หาฝ่ายผู้ชายที่ไม่อยู่ในพื้นที่แต่สัญญาณโทรศัพท์ ก็ไม่สามารถใช้งานได้ โชคดีที่ไม่มีใครเป็นอะไร
ผู้หญิงจึงต้องพร้อมกว่าผู้ชาย เพราะไม่เพียงอยู่ดูแลบ้านเท่านั้นแต่ต้องดูแลครอบครัว และทุกคนในบ้านด้วย บทบาทของผู้หญิงมีมาก เนื่องจากมีความละเอียดรอบครอบกว่า คุยได้เข้าถึงทุกกลุ่ม ทุกเรื่องทั้งเรื่องการเงิน เรื่องครอบครัว ซื้อหอมซื้อกระเทียมทุกเรื่องผู้หญิงคุยได้หมด ในช่วงแรกการยอมรับบทบาทผู้หญิง รวมทั้งบทบาทการเป็นคณะทำงานยังน้อยอยู่ แต่ก็ต้องทำอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการยอมรับ เริ่มจากค่อยๆ รวมกลุ่มเฉพาะสตรีก่อน เช่นกลุ่มอสม. กลุ่มแม่บ้าน แล้วจึงขยายไปกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มเยาวชน กลุ่มอาชีพ ข้อสำคัญคือต้องมีผลสำเร็จของกิจกรรมจริง การยอมรับก็จะตามมา
ผู้หญิงมีบทบาทมากในชุมชนแต่อาจจะไม่ได้กล่าวถึงนัก เราเชิญกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)มาเข้าร่วมกิจกรรม เพราะทักษะเดิมทีเกี่ยวข้องเช่นการปฐมพยาบาล และเข้าถึงชุมชนเป็นพื้นฐานซึ่งสำคัญในการทำงานกับกลุ่มเป้าหมายและสร้างการมีส่วนร่วม เราเริ่มโดยร่วมทำเวทีมีประชาคมเพื่อสร้างความเข้าใจ จัดให้มีคณะทำงานที่มีผู้หญิงเข้ามาร่วมในการเป็นอาสาสมัคร ร่วมตั้งแต่พัฒนาข้อมูล วิเคราะห์แผน รวมทั้งมีบทบาทในคณะทำงาน เป็นผู้ประสานงานการแจ้งเตือนและเฝ้าระวังภัย โดยมีเครื่องวิทยุสมัครเล่นในการสื่อสาร ซึ่งผู้หญิงก็ต้องอยู่คณะทำงานและมีอุปกรณ์ดังกล่าวถือไว้เช่นกัน โดยจะมีการแบ่งพื้นที่ในความรับผิดชอบเท่าเทียมกับคณะทำงานผู้ชายในพื้นทีอื่นๆ ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาเป็นเรื่องที่คุณคณิต สุขแดง ร่วมเป็นผู้ดำเนินการทั้งสิ้น ยิ่งสะท้องถึงภาระและหน้าที่ในงานจัดการภัยพิบัติในชุมชน ผู้หญิงสามารถทำงานได้ทุกอย่างที่หลายคนคดว่าเป็นภารกิจเฉพาะผู้ชายเท่านั้น
คิดเห็นอย่างไรกับการทำให้สตรีเห็นความสำคัญและเข้ามามีส่วนในการจัดการภัยพิบัติ
แรกๆ ก็ชวนผู้หญิงคนอื่นๆให้มาร่วมประชุมด้วย ทั้งประชุมในหมู่บ้านและประชุมร่วมกับหน่วยงานอื่นภายนอก ให้พวกเขาได้รับทราบและเห็นความสำคัญเรื่องภัยพิบัติใกล้ตัว ค่อยๆ ซึมซับควบคู่กับการขยับงานในหมู่บ้านควบคู่กันไป และเมื่อมีคนจากหน่วยงานภายนอกเข้ามาทำกิจกรรมในชุมชนก็ให้กลุ่มผู้หญิงได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนพูดคุย พบปะผู้คน ให้เห็นว่าภายนอกมองภาพเรื่องการจัดการภัยพิบัติอย่างไร รวมทั้งบทบาทของผู้หญิงในแต่ละเวทีเป็นอย่างไร เหมือนการสร้างแรงบันดาลใจหนุนให้พวกเขาร่วมกันพัฒนางานในชุมชน
ชุมชนยอมรับบทบาทสตรีมากน้อยแค่ไหน
ช่วงแรกไม่ให้การยอมรับ ชุมชนมุสลิม ผู้หญิงจะไม่ได้รับความสำคัญมากนัก แต่ก็พยายามทำงานให้เห็น รวมทั้งแสดงความคิดเห็นต่างๆให้รู้ว่าเราก็มีข้อเสนอที่ดีๆเช่นกัน แม้จะมีการแบ่งบทบาทหญิงชายจากวัฒนธรรมของชุมชน ผู้หญิงก็สามารถยกระดับการยอมรับได้เช่นกัน หากแต่เราต้องลุกขึ้นมาแสดงบทบาทที่นอกเหนือ จากการดูแลครอบครัว ให้เห็นอีกบทบาทหนึ่งให้ได้ และปัญหาการไม่ยอนรับไม่ได้มีเพียงผู้ชายในชุมชนเท่านั้นหากแต่ผู้หญิงด้วยกันก็สำคัญ ที่ต้องกระตุ้นและให้กำลังใจ และปรับทัศนคติใหม่ ว่าปัญหาของชุมชนผู้หญิงก็ต้องลุกขึ้นมาทำเช่นกัน
ปัญหาของคณะทำงานในระหว่างการดำเนินงาน
ปัญหาด้าน กระทบด้านเศรษฐกิจ คนในชุมชนยังมองเรื่องปากท้องก่อน ในเรื่องการจัดการภัยพิบัติ เพราะหากต้องมาทำงานส่วนรวมจะเสียเวลาในการทำงาน สร้างรายได้ของตนเอง
แต่ทั้งนี้ถ้าเราสามารถวางแผนงานของตนเองให้ได้ วันนี้เรามีงานอะไร ก็จะช่วยลดปัญหาของการสร้างการมีส่วนร่วมได้ เราต้องพยายามสร้างความเข้าใจในชุมชน
หากเรามีแผนรับมือเมื่อเกิดภัยพิบัติ ถึงแม้กรณีเมื่อเกิดภัยพิบัติและมีแต่ผู้หญิง หากเราเข้าใจและมีแผน เราก็จะสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ และหลังจากการร่วม กระบวนการทำงานกับชุมชน ตนเองรู้สึกปลอดภัย มีความรู้ว่าพื้นที่เสี่ยงอยู่ตรงไหน ได้ฟังการสนทนาผ่านสื่อวิทยุแล้ว ก็รู้สึกเห็นด้วย ที่มีผู้ย้ำอยู่เสมอว่า วันนี้ผู้หญิงไม่ได้มีความสามารถด้อยไปกว่าชายเลย จริงๆ ถ้าทุกคนช่วยรับฟังและเปิดโอกาสให้เธอเหล่านั้น ได้มายืนข้างหน้าบ้าง และเรื่องการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติโดยชุมชน ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่ผู้หญิงต้องเป็นกำลังสำคัญ เพราะภัยพิบัติไม่ได้เลือกหญิงชาย และไม่คอยให้ผู้ชายกลับบ้านก่อนถึงจะเกิด
ตนเองได้รับประโยชน์ใดบ้างเมื่อเข้ามามีบทบาทในเรื่องการจัดการภัยพิบัติ
สิ่งที่ได้อย่างแรกคือความสบายใจ อุ่นใจ การทำงานแบบนี้ต้องทำงานด้วยใจมีจิตอาสา คิดว่าเราทำได้จึงทำ ประโยชน์ที่ได้ก็เพื่อลูกหลานในอนาคต ที่ต้องอยู่ในชุมชนต่อไป หากคนภายนอก หรือหน่วยงานภายนอกไม่รู้จักชุมชน ไม่รู้ข้อมูลของชุมชน ชุมชนก็ไม่มีคนสนใจ แต่เมื่อเรามีโอกาสนำ ข้อมูลชุมชนไปนำเสนอสู่ภายนอก คนภายนอกให้ความสนใจ เข้ามาทำกิจกรรมภายในชุมชน แล้วคนในชุมชนเองจะไม่เห็นความสำคัญได้อย่างไร
คิดเห็นอย่างไรกับนโยบายรัฐบาทกับการส่งเสริมบทบาทสตรี
เวลานี้รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมบทบาทสตรีมากขึ้น อาจเป็นเพราะเรามีผู้นำที่เป็นผู้หญิงในอดีตมีคนเคยบอกว่าผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง แต่หากสังเกตดูแล้วหากเท้าหลัง ไม่ไปกระตุ้นเตะเท้าหน้า ช้างก็จะไม่ก้าวเท้าเดิน เหมือนปัจจุบันที่ผู้ชายต้องมีผู้หญิงคอยกระตุก กระตุ้นเตือนอยู่เสมอ นโยบายของรัฐที่สำคัญคือการสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มของสตรี ส่งเสริมความเข้มแข็งของกลุ่มเดิม มีการสร้างเครือข่ายขับเคลื่อนกลุ่มในระดับต่างๆ ทั้งระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล และระดับจังหวัด รวมทั้งสนับสนุนให้กลุ่มสตรีมีบทบาทในการบริหารจัดการและกำหนดทิศทางของกลุ่มได้มากกว่าเดิม
ที่มา : http://www.greenforall.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=539502130&Ntype=2
——————-///////////——————–