- ในอดีตที่ผ่านมาการพัฒนาของประเทศไทยเป็นการพัฒนาที่หันเหออกจากรากเหง้าดั้งเดิมของตนเองแล้วแทนที่หรือสวมรอยด้วยรูปแบบที่แน่นอนตายตัวจากประเทศตะวันตก
- การพัฒนาจึงเป็นสร้างความรุนแรงอย่างมหันต์กับสิ่งที่ถูกพัฒนาไม่ว่าจะเป็นมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เกิดการพัฒนาแบบไม่สมดุลและแบบไม่เท่าเทียมกัน
- ควบคู่กับการพัฒนามีความเดือดร้อนความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมากมายในแต่ละปี ดังเช่นปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งสร้างผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ แทบจะทุกปีและมีแนวโน้มว่าจะมีระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นและมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแผ่ขยายไปยังพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งนอกจากมีปัจจัยเชิงสาเหตุมาจากปริมาณน้ำฝนตกตามธรรมชาติแล้ว การพัฒนากำลังสร้างเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดสภาพตามธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปนานาประการ ได้แก่ ระดับความสูงเฉลี่ยพื้นที่ลุ่มน้ำ ความลาดชันของลำน้ำและความลาดชันของพื้นที่ลุ่มน้ำ แนวทิศทางของพื้นที่ลุ่มน้ำ พื้นที่รับน้ำหรือลุ่มน้ำเปลี่ยนแปลงรูปร่างและขนาดย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของน้ำจากเดิมหรือการทำลายระบบระบายน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติจนทำให้เกิดน้ำท่วมน้ำแล้งขึ้นได้
อีกทั้งสภาพการใช้ที่ดินในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำ การทำไร่เลื่อนลอย การบุกรุกแผ้วถางป่าไม้อันเป็นทรัพยากรหลักในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำลำธารหรือในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำโดยปราศจากการควบคุมย่อมทำให้ผิวดินส่วนใหญ่ขาดสิ่งปกคลุมในการช่วยดูดซึมน้ำ หรือทำให้ผิวดินนั้นแน่นขึ้น ย่อมส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลากและปริมาณน้ำใต้ดินลดต่ำลง การพัฒนาเมือง หลายๆ เมืองถูกสร้างให้ใหญ่ขึ้นโดยมีแต่ผังก่อสร้างแต่ไม่มีแผนผังทางเดินน้ำหรือการกำหนดแนวทางการไหลของน้ำว่าจะให้มีการไหลไปในทิศทางใดที่สอดรับไปกับการเจริญเติบโตไม่ได้สร้างระบบการระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพไม่มีระบบการจัดการน้ำหรือมีผังทางเดินของน้ำที่สอดรับการพัฒนาพื้นที่ในภาพรวมในระดับลุ่มน้ำสิ่งก่อสร้างการขยายตัวทำให้เกิดปัญหาต่างคนต่างถมที่ตัวเองให้สูง ทำให้เกิดปัญหาน้ำไหลไปท่วมพื้นที่ที่ไม่ได้ถมเกิดพื้นที่น้ำระบายไม่ทันหรือมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงกว่าที่เคยประสบมาแล้วในอดีต และเกิดขึ้นในที่ใหม่ๆ ที่ไม่เคยประสบปัญหาน้ำท่วม แม้เราจะมีกฎหมายเกี่ยวกับผังเมืองรวมที่กำกับดูแลการเจริญเติบโตของเมืองในภาพรวมกว้างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนา และการดำรงรักษาเมืองหรือชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะและสภาพแวดล้อม แต่ก็ยังไม่ได้กำหนดความสูงของพื้นที่ที่พัฒนาและไม่มีการกำหนดทิศทางการไหลของน้ำ
ปัจจุบัน เรายังคงเห็นพื้นที่ส่วนใหญ่ซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นพื้นที่ที่ราษฎรใช้ทำการเกษตร พื้นที่ลุ่มมีแอ่งน้ำ หนอง บึงและลำคลองธรรมชาติ เคยเป็นพื้นที่ลุ่มที่เคยเป็นจุดรับน้ำเป็นแก้มลิงตามธรรมชาติที่เดิมสามารถรับน้ำเข้าและระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้อย่างสะดวก มีการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นชุมชนแหล่งที่อยู่อาศัยหรือแหล่งอุตสาหกรรม จึงมีการถมดินปรับพื้นที่ สร้างถนน สิ่งก่อสร้างต่างๆ ขยายตัวออกไปเป็นบริเวณกว้างเป็นเหตุให้แอ่งน้ำ หนอง บึง และลำคลองธรรมชาติทั้งหลายต้องถูกทำลายหมดไป ทำลายระบบการระบายน้ำตามธรรมชาติเดิมและถึงแม้เราจะมีปริมาณน้ำมากจนเกิดภาวะน้ำท่วมแต่คล้อยหลังไปอีกไม่กี่เดือนในปีเดียวกันเรามักจะประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปี ทั้งๆ ที่หากดูปริมาณน้ำต่อหัวประชากรแล้วก็พบว่าไม่ได้ ขาดแคลน ซึ่งนอกจากจะเกิดจากปริมาณฝนที่ตกต่ำกว่าเกณฑ์ปกติแล้วยังขึ้นกับการบริหารปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งกักเก็บน้ำทั้งแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ แหล่งน้ำภาคเอกชนและภาคประชาชน และวิธีการเพาะปลูกพืชของเกษตรกรด้วย ซึ่งโดยทั่วไปจะมีวิธีการแก้ไขด้วยการสูบน้ำจากแหล่งน้ำบาดาลขึ้นมาใช้อุปโภคบริโภคและเพื่อการอุตสาหกรรมเป็นปริมาณมากในแต่ละปี รวมทั้ง การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเร่งด่วนเฉพาะหน้าด้วยการขนน้ำใส่รถบรรทุกไปแจกจ่าย ปัญหาที่แท้จริงของการขาดแคลนน้ำ คือขาด ความเป็นธรรมขาดความชอบธรรม ขาดการสร้างระบบความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง
จากสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้นถูกประกอบสร้างขึ้นจากความรู้ ความเชื่อ ค่านิยม สภาพสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมืองการปกครอง ระบบ ระเบียบกฎหมายและประสบการณ์ที่แตกต่างหลากหลายของผู้คนในพื้นที่ต่างๆ เมื่อมีองค์ประกอบปัจจัยทางธรรมชาติที่เหมาะสม การประกอบสร้างดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม ซึ่งแม้โดยส่วนใหญ่แล้วเราจะมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ รวมทั้งมีการดำเนินการบางอย่างเพื่อลดผลกระทบหรือลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการในมิติด้านวิศวกรรมมิติเดียว แผนงานโครงการด้านวิศวกรรมหลายๆ รูปแบบได้สร้างความรุนแรงต่อสภาพภูมิรัฐศาสตร์โดยที่เราไม่รู้ตัว
หากเรายังสร้างความรุนแรงอย่างต่อเนื่องต่อไปโดยที่ไม่รู้ตัว แม้จะเพิ่มแผนงานโครงการด้านวิศวกรรมขึ้นอีกมากมายด้วยเงินงบประมาณมหาศาลก็ตาม เมื่อสภาพภูมิรัฐศาสตร์รอบๆ แผนงานโครงการเปลี่ยนแปลงไป แผนงานโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จอาจใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงทุนใช้จ่ายไป
ดังนั้น การลดการประกอบสร้างทางสังคมน้ำท่วมน้ำแล้ง จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันและลดความเสี่ยงน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืน
————-฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿—————