วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

การประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม/โคลนถล่ม  พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยฉับพลัน  พื้นที่เสี่ยงวาตภัย (พายุหมุนเขตร้อน) และพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมพร้อมรับมือ และแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนในพื้นที่ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมพัฒนาที่ดิน กรมทรัพยากรฯ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยล้วนแล้วแต่ใช้ประวัติการเกิดในอดีตเป็นฐานข้อมูล  ไม่ได้มีการประเมินศึกษาตามหลักวิชาการกันอย่างจริงจัง

ข้อมูลหรือฐานข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวข้างต้น  ช่างไร้ผลช่างไร้ความหมายช่างไร้คุณค่าต่อประชาชนเสียเนี่ยกระไร (สำรวจมาแปะง่ายๆ  แต่งบประมาณดำเนินการเทียบกับจ้างเทวดา) โดยเฉพาะประชาชนที่ถิ่นฐานไม่อยู่ในฐานข้อมูลดังกล่าวไม่อาจจะนิ่งนอนใจกับหายนะที่อาจจะมาเยือนได้  โดยอาจได้ประโยชน์บ้างก็เฉพาะอุทกภัย และภัยแล้ง ที่หน่วยงานภาครัฐจะขนเงินภาษีมาทำโครงการแบบลูบหน้าปะจมูกที่มองหาความยั่งยืนไม่เจอ

จำนวนวัน จำนวนพื้นที่ จำนวนความสูญเสีย ลักษณะความรุนแรงในอดีต  ที่นำมาพิจารณาแบบกระแดะจนหน้านิ่วคิ้วขมวด วาดฝันออกมาเป็นแผนงาน/แผนปฏิบัติการ/แผนแม่บท  แต่มองหาความปลอดภัยแล้วจะเต็มไปความเคลือบแคลง เพราะมีแต่จัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องใช้ในการบริหารจัดการภัยพิบัติ จัดให้มีหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน และชุดเคลื่อนที่เร็ว และแผนการปฏิบัติในสถานการณ์ฉุกเฉินให้มีระบบการสั่งการที่ดี และผู้สั่งการต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยในเบื้องต้น

เราประชาชนก็อย่ารอแหงนมองแต่ศาสตร์ด้านวิศวกรรม  ศาสตร์ด้านเทคโนโลยี   ที่เป็นเพียงศาสตร์ที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐจะแอบอ้างหน้าที่ภารกิจขนเงินภาษีมาผันแปรในพื้นที่ของท่าน ในชุมชนหมู่บ้านเรามีองค์ความรู้ธรรมชาติในพื้นที่อยู่แล้วในสาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ อันเป็นศาสตร์เบื้องต้นในการพัฒนาและสร้างศักยภาพและพัฒนามนุษย์  รีบเข็ญเอาออกมาสร้างองค์ความรู้ใสำหรับชุมชน ลากเค้นออกมาสร้างกลไกทางสังคมที่รองรับและสนับสนุนการปรับตัวสู้อย่างมีศักดิ์ศรีในผืนดินถิ่นเกิด

นอนรอหรือเฝ้าวิงวอนผู้ที่ท่านเลี้ยงดูด้วยเงินภาษีให้ปัดเป่าปัญหา ก็ได้แค่ชั่วคราวและกลับเป็นการบั่นทอนความเข้มแข็งของแผ่นดินเกิด

ยกเว้นท่านได้ปฏิรูปปฏิวัติการเมืองการปกครองได้แล้วเท่านั้น

——————-///////////////——————-