วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติพึงจะต้องได้รับการเคารพ (Respect) ปกป้อง Protect) และเติมเต็ม (Fulfill) สิทธิมนุษยชนจากรัฐไม่ว่าจะเป็นรัฐเจ้าของดินแดนหรือรัฐเจ้าของสัญชาติก็ตาม รวมทั้งสังคมระหว่างประเทศ หากแต่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ยังต้องเผชิญความท้าทายที่หลากหลายรวมไปถึงความไม่เท่าเทียมในการรับความช่วยเหลือ การเลือกปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือ การสูญหายของเอกสาร ความไม่ปลอดภัยหรือไม่สมัครใจในการกลับสู่ถิ่นฐานเดิมหรือตั้งถิ่นฐานใหม่

ดังนั้น รัฐย่อมไม่สามารถพรากสิทธิพื้นฐานของปัจเจกชนในยามเกิดภัยพิบัติธรรมชาติได้เพราะสิทธิดังกล่าว ล้วนแต่เป็นสิทธิพื้นฐานตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่รัฐจะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีและไม่สามารถลดลงได้ด้วยเพียงเพราะเกิดเป็นภัยฉุกเฉินขึ้น

การให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมจึงเป็นการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของปัจเจกชนไม่ให้ถูกละเมิด รัฐภาคีในสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชน จึงจะต้องผูกพันในการที่จะใช้ทรัพยากรที่มีให้มากที่สุดในการปฏิบัติตามพันธกรณีดังกล่าว รวมไปถึงการรับความช่วยเหลือระหว่างประเทศ มิฉะนั้นเท่ากับว่ารัฐนั้นบกพร่องต่อพันธกรณีของตนตามกฎหมายระหว่างประเทศ  โดยการเพิกเฉยไม่ยอมใช้ความพยายามทุกวิถีทางที่จะดำรงมาตรฐานขั้นต่ำของสิทธิพื้นฐานที่สำคัญดังกล่าวเอาไว้ ดังนั้น สิทธิพื้นฐานของปัจเจกชนในการเรียกร้องแก่รัฐในสถานการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติที่สำคัญมี ดังนี้

๒.๑ สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ (Right toLife)

บุคคลทั่วไปมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะมีชีวิตอยู่ เพราะเป็นสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตที่พยายามดิ้นรนต่อสู้ให้ตนเองมีชีวิตอยู่รอดได้ถือได้ว่าสิทธินี้เป็นสิทธิพื้นฐานขั้นต่ำที่สุดเป็นหลักกฎหมายจารีตประเพณีผูกพันรัฐที่ต้องให้ประชาชนในรัฐดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข(Well-Being)๓ เมื่อคำนึงถึงความอยู่รอดของมนุษยชาติตกผลึกอยู่ในตราสารกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งระดับสากลและภายในภูมิภาครัฐจึงมีพันธกรณีในการที่จะต้องดำเนินการทุกวิถีทางภายในอำนาจของตนที่จะปกป้องชีวิตของประชาชนจากภัยอันตรายทั้งปวง รวมทั้ง การดำรงรักษาความปลอดภัย และความเป็นอยู่อย่างปกติสุขของประชาชนในรัฐ

๒.๒ สิทธิด้านอาหาร (Right to Food)

เป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองภายใต้ตราสารกฎหมายระหว่างประเทศ ปัจเจกชนพึงมีสิทธิได้รับอาหารจึงนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือ ถ้าปัจเจกชนนั้นไม่มีความสามารถในการหาอาหารให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การที่นำอาหารผิดประเภทไปให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แล้วยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจถึงประชาชนในพื้นที่ และส่งผลให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเกิดความรู้สึกว่าเป็นการไม่เคารพต่อวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปอีกด้วย

๒.๓ สิทธิด้านน้ำ (Right to Water)

เป็นสิทธิที่มาควบคู่กับสิทธิด้านอาหาร และคล้ายคลึงกันในการที่รัฐจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าได้ใช้ทุกวิถีทางแล้วในการที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีน้ำที่ประชาชนควรที่จะสามารถเข้าถึงได้แบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท ซึ่งมาตรฐานทางด้านคุณภาพขั้นต่ำจึงแตกต่างกันคือ

๑. เพื่อใช้อุปโภคมีวัตถุประสงค์สำหรับการคมนาคมหรือชำระล้างสิ่งสกปรก

๒. เพื่อการบริโภคนั้นจะต้องเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากเชื้อโรคมีมาตรฐานและคุณภาพที่สูงกว่า เพราะน้ำเพื่อการบริโภคเป็นน้ำที่เข้ามาสู่ร่างกาย จึงจำเป็นจะต้องปราศจากสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการบริโภค

๒.๔ สิทธิการกลับสู่ถิ่นฐานเดิม (Right to Return)

มิได้จำกัดเพียงการบรรเทาทุกข์เท่านั้น กลุ่มบุคคลที่ย้ายจากถิ่นฐานเดิมที่ประสบกับภัยพิบัติธรรมชาติเป็นผู้พลัดถิ่นภายในดินแดน (Internally Displaced Persons) มีสถานภาพพิเศษได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศแต่ยังคงรวมถึง การปกป้องกลุ่มบุคคลเดิมให้สามารถกลับคืนไปยังถิ่นฐานเดิมของตนด้วย ถือว่าเป็นสิทธิในการกลับถิ่นฐานเดิม๔ หากแต่ผู้พลัดถิ่นภายนอกดินแดน (Externally Displaced Persons) ด้วยสาเหตุจากภัยพิบัติธรรมชาติกลับไม่มีสถานภาพตามกฎหมายระหว่างประเทศ จุดที่น่าสังเกตคือสิทธิในการกลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิม มิใช่สิทธิเดียวกับสิทธิ์ในการมีที่อยู่อาศัย (Right to Abode) โดยเมื่อผู้นั้นกลับสู่ถิ่นฐานเดิมแล้วย่อมมีสิทธิที่จะอยู่ในประเทศต่อไป โดยมิต้องขออนุญาตจากรัฐบาลอีกต่อไป แต่ก็มิใช่หมายความว่าผู้นั้นจะได้รับสัญชาติเสมอไป๕ สิทธิในการกลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิมจะปรากฏอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศจำนวนมาก๖

๒.๕ สิทธิการมีที่อยู่อาศัย (Right to Housing)

ทุกคนต้องมีสิทธิการมีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัย และมั่นคงในการอยู่อาศัยอย่างสงบและสันติเพื่อเข้าครอบครองกรรมสิทธิ์ให้ถูกต้องตามกฎหมายและอาศัยเป็นฐานในการเรียกร้องสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป๗ การที่มีอยู่อาศัยหลังจากเกิดเหตุภัยพิบัติธรรมชาติจึงแบ่งออกได้เป็น ๓ รูปแบบ คือ

๑. ที่พักฉุกเฉินให้กับผู้ประสบภัยซึ่งมักจะใช้สถานที่สาธารณะอาทิหอประชุม โรงพยาบาล โรงเรียน หรือแม้แต่จะเป็นเต็นท์ก็ตาม

๒. ที่พักชั่วคราวที่มีความเหมาะสมจึงต้องออกแบบมาเพื่อการอยู่อาศัยในระยะยาวจนกว่าที่อยู่เดิมของตนจะได้รับการซ่อมแซมหรือมีการสร้างขึ้นมาใหม่ โดยจำเป็นที่ต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้ที่ได้รับผลกระทบเองด้วย

๓. ที่พักถาวร การจัดสร้างที่พักใหม่ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่เดิมหรือพื้นที่ใหม่ด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัยยังมีในส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ปราศจากกรรมสิทธิ์ในที่ดินและไม่มีที่อยู่อื่น เพราะเดิมก่อนเกิดภัยพิบัติก็เป็นแต่เพียงผู้เช่าหรือผู้อยู่อาศัยเท่านั้น อีกทั้งยังมีกลุ่มของผู้ที่ได้รับผลกระทบที่พื้นที่เดิมของตนถูกทำลายลงไปหรือกลายเป็นพื้นที่อันตราย จึงทำให้หนทางสำหรับกลุ่มคนเหล่าน

จึงต้องให้รัฐเจ้าของดินแดนเข้ามาให้ความช่วยเหลือในการจัดหาที่อยู่ใหม่ที่เหมาะสมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือแม้แต่การรับความช่วยเหลือจากองค์การพัฒนาภาคเอกชนในการจัดสร้างที่พักอาศัยให้

๒.๖ สิทธิด้านเครื่องนุ่งห่ม (Right to Clothing)

การมีเครื่องนุ่งห่มถือว่าเป็นสิทธิพื้นฐานประการสำคัญที่มักจะถูกลืม ทั้งที่เป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างปกติในสังคม ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจึงควรที่จะได้รับเครื่องนุ่งห่มที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น ซึ่งไม่ใช่เป็นการเลือกให้เครื่องนุ่งห่มตามอำเภอใจ แต่เป็นการที่ผู้บริจาคต้องให้ความเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของผู้รับบริจาคด้วยเช่นกัน การที่ผู้ได้รับผลกระทบจะได้รับการคุ้มครองและปกป้องในสิทธิ์นี้ผู้ให้ความช่วยเหลือจึงควรที่จะทำความเข้าใจกับทั้งการดำรงชีวิตของผู้ที่รับผลกระทบและสภาพภูมิอากาศของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จึงจะทำให้เครื่องนุ่งห่มนั้นตรงกับความต้องการอีกทั้งเสื้อผ้าที่รัฐจะต้องจัดทำให้จะต้องเคารพต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นของผู้นั้นด้วย เพราะผู้ประสบภัยอาจจะเป็นชนกลุ่มน้อยก็ได้

๒.๗ สิทธิด้านสุขภาพ (Right to Health)

เนื่องมาจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ มีทั้งกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ บาดเจ็บทางกายซึ่งเป็นผลมาจากภัยพิบัตินั้น และได้รับผลกระทบทางอ้อม คือบาดเจ็บทางด้านจิตใจซึ่งเป็นผลมาจากความสูญเสียบุคคลใกล้ชิดจนถึงทรัพย์สิน จึงทำให้ฐานของสิทธิทางกฎหมายของปัจเจกชนเกี่ยวกับสิทธิด้านสุขภาพประกอบไปด้วยสุขภาพทางกายและทางใจ(Physicaland Mental Health)ซึ่งกำหนดให้รัฐภาคีต้องป้องกัน ปฏิบัติและควบคุมต่อโรคระบาด และสร้างให้มีการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในยามเจ็บป่วย

๒.๘ สิทธิในการได้รับรู้ถึงข้อมูล (Right to Access Information)

ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากลว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่ง๙ ในบริบทที่เกี่ยวกับภัยสาธารณะ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครอบคลุมเกี่ยวกับภัยพิบัติและความเสี่ยงที่อาจได้รับหรือจะได้รับจากภัยพิบัตินั้น ดังนั้น เป็นสิทธิของพลเมืองทุกคนที่จะได้รับรู้ถึงความเสี่ยงภัยในทุกลักษณะ ตลอดจนข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวกับวิธีการที่จะช่วยเหลือตนเองจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีปัจจัยของความเสี่ยงแน่ชัดอยู่แล้ว ไม่ว่าความเสี่ยงนั้นจะมีมากหรือน้อยก็ตาม จนไปถึงการรับทราบข้อมูลในการรับความช่วยเหลือและเยียวยาหลังเกิดภัย

๒.๙ สิทธิการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม (Right to Humanitarian Assistance)

เมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้น ย่อมต้องมีการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบตามมา โดยการช่วยเหลือสามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภทหลักคือ

๑.การให้ความช่วยเหลือตามความต้องการคือตามความต้องการของปฏิบัติการบรรเทาทุกข์ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของภัยพิบัติที่เกิดขึ้น จึงเป็นอาหารเสื้อผ้า ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัยชั่วคราวสิ่งของจนไปถึงเครื่องยนต์ที่ใช้สำหรับการขนส่งและค้นหาผู้รอดชีวิต

๒. การให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน เป็นการสนับสนุนเงินให้แก่ปฏิบัติการบรรเทาทุกข์หรือี่ใช้สำหรับซื้อสิ่งของที่จำเป็น และ ๓. การให้ความช่วยเหลือฝึกฝนบุคลากร ไม่จำกัดเพียงเจ้าหน้าที่ภาคสนามเท่านั้น แต่รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านงานบริหารหรือการประสานงานโดยการให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ย่อมต้องคำนึงถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบ และความต้องการของพวกเขาเหล่านั้น การให้ความช่วยเหลือไม่ได้ยุติเพียงการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่ควรที่จะรวมถึง มาตรการเตรียมความพร้อม เพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือในอนาคตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อไม่ สามารถป้องกันให้เกิดภัยพิบัติได้การลดผลกระทบความเสี่ยงการเกิดภัยพิบัติจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่จะทำให้ความช่วยเหลือเกิดประสิทธิภาพ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนและซ้อมตระเตรียมการ จึงจะเป็นการลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน    จนไปถึงเป็นการทดสอบประสิทธิภาพและแผนงาน ที่ได้วางแผนเอาไว้ การให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศเป็นการส่งเสริมให้รัฐเจ้าของดินแดน เป็นการเติมเต็มหน้าที่ และความรับผิดชอบของรัฐที่มีต่อประชาชนที่ล้วนแล้วแต่คาดหมายและหวังให้รัฐดำเนินการให้เต็มความสามารถในการให้ความช่วยเหลือ แต่มิใช่เป็นการแสดงออกของการแทรกแซงในกิจการภายในของรัฐ หรือเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับอำนาจอธิปไตยของรัฐเจ้าของดินแดนแต่อย่างใด๑๐ เพราะจากแนวทางการปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน การเข้าไปให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมทุกครั้งยังต้องขอความยินยอมจากรัฐที่ได้รับผลกระทบเสียก่อน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเคารพในอำนาจอธิปไตยของรัฐเจ้าของดินแดน โดยในทางกลับกันก็ยังไม่ปรากฏว่ามีเหตุผลอันชอบธรรมอันใดที่รัฐจะปฏิเสธไม่ยอมรับการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศเพราะนอกจากจะเป็นการปฏิเสธความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ยังเทียบเท่ากับเป็นการปฏิเสธถึงสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบ อันเป็นความรับผิดชอบหลักที่รัฐดังกล่าวพึงมีต่อผู้ที่อยู่อาศัยในดินแดนของตน การไม่อนุญาตให้เข้าความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมจึงไม่สามารถกระทำได้ตามอำเภอใจแต่อุปสรรคที่เกิดจากเจตนารมณ์ทางการเมือง หรือแนวนโยบายที่ต้องการปิดกั้น หรือรัฐบาลจะปฏิเสธ ข้อเสนอการให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรมจากภายนอก แต่ในขณะเดียวกันศักยภาพของรัฐบาล กลับไม่เพียงพอหรือเจตนาที่จะไม่ให้ความช่วยเหลืออย่างเพียงพอแก่ผู้ที่อยู่อาศัยภายในดินแดน จึงเท่ากับว่าเป็นการบกพร่องต่อความรับผิดชอบของตนภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของปัจเจกชน

ในช่วงแรกของการเกิดภัยพิบัติผู้ที่ได้รับผลกระทบจำต้องอาศัยการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนในการกู้ภัยช่วยชีวิตให้รวดเร็วที่สุดแต่ช่วงการฟื้นฟูต้องยอมรับว่าเป็นบทบาทของรัฐเจ้าของดินแดนเป็นสำคัญ โดยความเชื่อมโยงกันระหว่างช่วงของการให้ความช่วยเหลือกับช่วงการฟื้นฟูจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยนโยบายที่ชัดเจน และการประสานงานกันในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบ จึงจะส่งผลให้การบริหารจัดการภัยพิบัติเกิดประสิทธิภาพสูงสุดภัยพิบัติกระทบต่อปัจเจกชน และสภาพความเป็นอยู่ ซึ่งมีทั้งภัยพิบัติที่เกิดและยุติภายในรัฐเองหรือและข้ามไปยังรัฐอื่น จนนำไปสู่ความต้องการความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมของผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นระบบ๑๒ เพื่อแก้ไขปัญหาการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วยพื้นฐานของความสุจริต(bona fides)และใช้เป็นฐานในการอ้างอิงการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวต้องอาศัยพัฒนาการของกฎหมายภายที่เหมาะสมและสอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องเผชิญกับปัญหาทางกฎหมายที่ซ้ำซากโครงสร้างการให้ความช่วยเหลือจึงควรที่จะตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานของปัจเจกชนที่ได้รับผลกระทบที่กำลังมีพัฒนาการที่ชอบธรรมมากเพิ่มขึ้น และผู้ที่มีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติซึ่งต้องยอมรับว่าภาคเอกชนมักจะร่วมงานกันและปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าภาครัฐ๑๓ และได้รับการสนับสนุนจากสถาบันระหว่างประเทศมากกว่า แต่งานส่วนใหญ่ของภาคเอกชนมุ่งที่จะตอบสนองต่อความต้องการเร่งด่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าการพัฒนาและฟื้นฟู

ดังนั้น เหตุผลที่จะจำกัดการเข้าถึงทางด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Access) ในสถานการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติจึงจำกัดได้เพียงผลของข้อจำกัดทางสิ่งก่อสร้าง อาทิถนนและสะพานถูกทำลายความกังวลด้านความปลอดภัยของทีมกู้ภัย ระยะทางของจุดเกิดเหตุจนถึงความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติระยะที่สองตามมา รัฐจึงต้องตอบสนองอย่างรวดเร็วในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติและสามารถรับความช่วยเหลือโดยร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ

—————–xxx——————