วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

ยุคสมัย Post-Prayuth หรือยุคหลังจากที่ประชาชนและเยาวชนปลดแอกเอาชนะทรราชย์ได้กแล้ว การเอาประยุทธ์ออกไปคือก้าวแรก เพราะที่ผ่านมาเห็นได้ว่า คสช. และรัฐบาลประยุทธ์ไม่เคยจริงใจกับการปฏิรูประบบราชการ รังแต่จะใช้ข้าราชการเป็นเครื่องมือ รวมศูนย์ระบบราชการมาสู่ส่วนกลางทำให้ระบบใหญ่เทอะทะล่าช้าอืดอาด เราแทบไม่เคยการลดขนาด การปฏิรูปแต่ละครั้งมีแต่จะเพิ่มหน่วยงาน แยกหรือตั้งหน่วยงานใหม่ ทำให้ภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบราชการใหญ่โตเทอะทะ อาจมีแต่การนำเทคโนโลยีสำเร็จรูปมาใช้ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างหรือ outsourcing ราคาแพงบ้าง แต่คุณค่า วัฒนธรรมการทำงานและวิธีคิดยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

ประเทศไทยมีจำนวนกระทรวงและหน่วยงานที่เทียบเท่าทั้งสิ้น 20 หน่วยงาน และมีหน่วยงานในสังกัดระดับกรมกว่า 130 กรม นอกจากนี้ยังมีจำนวนรัฐวิสาหกิจกว่า 50 แห่ง และองค์กรอิสระ/องค์การมหาชนกว่า 60 แห่ง ราชการส่วนภูมิภาคคือแขนขาของราชการส่วนกลางที่สยายอาณาจักรไปตามพื้นที่ต่างๆ พยายามรวมศูนย์ กดทับราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งๆ ที่ราชการส่วนท้องถิ่นคือเจตจำนงของคณะราษฎร์ในการกระจายอำนาจตั้งแต่ปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475

การทำรัฐประหารหลายต่อหลายครั้ง ราชการส่วนภูมิภาคในฐานะเป็นเครื่องมือรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลางจึงเติบโตแบบคู่ขนานไปกับราชการส่วนท้องถิ่นและดูเหมือนจะเติบโตมากกว่าด้วย เกิดเป็นสภาวะทับซ้อนเชิงพื้นที่และอำนาจ เกิดการสิ้นเปลืองทั้งกำลังคนและงบประมาณอย่างน่าเสียดาย

นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ปภ.จำกัดได้ขยายหน่วยงานระดับภูมิภาค/ขยายขนาดรัฐราชการไปครอบคลุมทับซ้อนราชการส่วนท้องถิ่นอย่างน่าตั้งคำถาม ภารกิจงานทับซ้อนกับท้องถิ่น  ถ้าจะอ้างว่าเพื่อกำกับดูแล ก็เป็นการใช้เงินเพื่อกำกับดูแลที่เละเทะ สิ้นเปลืองมาก  งบประมาณปีละ 7-8 พันล้านบาท ใช้ไปกับการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุอุปกรณ์ 70-80 เปอร์เซ็นต์  อ้างลอยๆ ถึงความสมเหตุสมผลที่ตนเองจะสนับสนุนหน่วยงานอื่นๆ และพร้อมจะปฏิบัติการในสถานการณ์ขนาดใหญ่ ด้วยจำนวนคนและทรัพยากรที่พร้อมพรั่ง (ซึ่งไม่ค่อยจะได้ใช้ให้สมราคา และที่ควรจะเป็นคือทำภารกิจพิเศษเล็กๆ  ภัยพิบัติขนาดใหญ่ก็ร่วมกันบูรณาการ)

ยังมีความจำเป็นทางทฤษฎีและปฏิบัติอะไรบ้างที่ราชการส่วนภูมิภาคสังกัดบริษัท ปภ.จำกัดยังต้องดำรงอยู่ แต่เหตุผลที่ต้องยุบนั้น ด้วยความชอบธรรมใหญ่ๆ 2 ประการนี้ ก็ควรดำเนินการยุบได้แล้ว คือ

1.ตัดระบบการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจในระบอบศักดินาเสมือน แม้จะเป็นโครงสร้างที่เกิดขึ้นไม่ถึง 20 ปี แต่ก็สถาปนาเครือข่ายผู้ได้รับผลประโยชน์ด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาล หลอกลวงความสมเหตุสมผลเพื่อที่จะทำหน้าที่หลายอย่างแทนท้องถิ่น

2.ไม่มีความจำเป็นและการสิ้นเปลืองงบประมาณในการรักษารัฐราชการส่วนภูมิภาคขนาดใหญ่ที่ไร้คุณค่า

————–xxx————-

 

 

 

 

.

 

.