วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

 

นักวิทยาศาสตร์กว่า 11,258 คน จาก 153 ประเทศทั่วโลกได้ร่วมกันประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ Climate Emergency โดยชี้ว่ามนุษย์และโลกจะเผชิญความทุกข์ชนิดที่ไม่เคยได้พบมาก่อน และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากเรายังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่สร้างก๊าซเรือนกระจก และได้ร่วมกันลงนามสนับสนุนรายงานวิจัยสิ่งแวดล้อมที่ตีพิมพ์ในวารสาร Bioscience โดยรวบรวมงานวิจัยนานกว่า 40 ปี ครอบคลุมตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมกว้างขวาง อย่างอัตราจำนวนประชากร การใช้เชื้อเพลิง การบริโภคเนื้อ การปล่อยคาร์บอน ระดับอุณหภูมิพื้นผิวโลก การตัดไม้ทำลายป่า ไปจนถึงตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสภาพอากาศสุดขั้ว ซึ่งเป็นแน้วโน้มสะท้อนว่าในอนาคตจะเป็นไปในทิศทางใด เพื่อปกป้องอนาคตที่ยั่งยืน เราต้องเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตทั้งระบบ

ขณะนี้ ภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศได้เกิดขึ้นแล้ว และกำลังทวีคูณความรุนแรงอย่างรวดเร็วกว่าที่เราคาดการณ์ ที่จะส่งผลกระทบหายนะมากกว่าที่คาดคิด หากมนุษย์ไม่เร่งแก้ไข มีความเป็นไปได้สูงว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงกว่าที่เคยพบเจอกันมาอย่างมาก เช่น บางพื้นที่ของโลกอาจไม่สามารถอยู่อาศัยได้อีกต่อไป

นักวิทยาศาสตร์ได้ระบุในรายงานข้างต้นด้วยว่า มีมาตรการ 6 ด้านที่ผู้คนสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที เพื่อชะลอและหยุดยั้งผลกระทบจากภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

1) ด้านพลังงาน ควรใช้นโยบายอนุรักษ์แหล่งพลังงานและประหยัดพลังงานในระดับมหภาค ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หันมาใช้พลังงานทดแทนที่ยั่งยืน ยกเลิกนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันหรือนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล คิดค่าการปล่อยคาร์บอนให้สูงพอที่ธุรกิจต่าง ๆ จะหลีกเลี่ยงการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

2) ด้านสารก่อมลพิษระยะสั้น ควรลดการใช้และปล่อยมีเทน, สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน, รวมทั้งเขม่าควันต่าง ๆ เนื่องจากอาจจะช่วยลดความรุนแรงของภาวะโลกร้อนในช่วง 20-30 ปีข้างหน้าลงได้ถึง 50%

3) ด้านธรรมชาติ ควรหยุดยั้งการแผ้วถางพื้นที่ป่า อนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศเช่นป่าไม้ ทุ่งหญ้า หรือป่าโกงกาง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก

4) ด้านอาหาร ควรบริโภคพืชผักให้มากขึ้นและลดผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ลง ซึ่งจะช่วยตัดลดการปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ รวมทั้งลดการแผ้วถางพื้นที่ป่าเพื่อเลี้ยงปศุสัตว์ด้วย

5) ด้านเศรษฐกิจ ควรยกเลิกแผนการที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก เปลี่ยนทิศทางนโยบายที่มุ่งแสวงหาแต่ความมั่งคั่งและเพิ่มตัวเลขจีดีพีด้วยการทำลายทรัพยากร มาเป็นนโยบายที่คำนึงถึงความยั่งยืนของ “ชีวมณฑล” ในระยะยาวแทน

6) ด้านประชากร ควรจำกัดจำนวนประชากรโลกให้อยู่ในระดับคงที่และเหมาะสม โดยใช้วิธีการที่มีความยุติธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากในปัจจุบันมีประชากรเกิดใหม่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 2 แสนคนต่อวัน

—————————–55555555—————————-

Proudly powered by WordPress