วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

จริยธรรมในการทำงานด้านสาธารณภัย



ในปัจจุบันและในอนาคตข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่อาจจะต้องได้สัมผัสการทำงานด้านสาธารณภัยของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเราต้องพอจะมีหลักตัดสินการทำงานนั้นบ้างพอสมควร ไม่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐมาชี้นิ้วเพียงฝ่ายเดียว โดยเฉพาะในห้วงศตวรรษนี้ที่ภาครัฐอยู่ภายใต้วัฒนธรรมองค์กรเชิงอุปถัมภ์ด้วยแล้ว การถืออำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 http://web.krisdika.go.th/data.pdf

ในการปฏิบัติอย่างเกินเลยความสมเหตุสมผลย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ประชาชนจึงควรมีหลักไว้พิจารณาความสมเหตุสมผลของเหล่าข้าราชการตัวพ่อตัวแม่ที่รับประทานภาษีในการดำรงชีพ เพื่อจะได้ร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาคานอำนาจตามสมควร (แม้จะมีความเป็นไปได้น้อยมาก แต่เราก็พอจะมีหลักในการพิจารณาสู้กันต่อไป) หลักที่ควรมีไว้เรียกว่าหลักจริยธรรมในการทำงานสาธารณภัย ประกอบด้วยหลัก 3 ประการ ดังนี้

1. หลักความเคารพต่อบุคคล (respect for person) ประกอบด้วย

1.1 การเคารพในศักดิ์ศรีของมนุษย์ เป็นหัวใจหลักของจริยธรรมการทำงานด้านสาธารณภัย ซึ่งจำเป็นต้องมีขึ้นเพื่อปกป้องส่วนได้ส่วนเสียอันหลากหลายตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคลถึงระดับสังคม ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และความมั่นคงของสังคมด้านต่างๆ เช่น วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การพัฒนา ฯลฯ

1.2 การเคารพในการให้คำยินยอม/การให้ความร่วมร่วมมือโดยได้รับข้อมูลที่เพียงพอและเป็นอิสระในการตัดสินใจ ไม่มีการปกปิด ไม่มีอคติ โดยใช้ภาษาที่เข้าใจได้โดยง่ายชัดเจน  ข้อมูลครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการ สิทธิ หน้าที่ และกำหนดให้มีการตัดสินใจอย่างเป็นอิสระ รวมทั้ง สิทธิที่จะถอนการยิยยอม/การให้ความร่วมมือได้ทุกเมื่อโดยไม่ต้องอธิบายเหตุผล

1.3 การเคารพในศักดิ์ศรีของกลุ่มเปราะบางและอ่อนแอ  ซึ่งด้อยความสามารถทางร่างกายหรือด้อยความสามารถในการตัดสินใจ ไม่ด้อยค่าละเลยและต้องออกมาในรูปแบบการดำเนินการพิเศษโดยไม่ถือว่าเป็นการแบ่งชนชั้น

2. หลักคุณประโยชน์และไม่ก่ออันตราย (beneficence)

2.1 การชั่งระหว่างความเสี่ยงและคุณประโยชน์ อันนี้เป็นหลักสำคัญของเราในการพิจารณาการดำเนินโครงการต่างๆ ของเหล่าข้าราชการตัวพ่อตัวแม่ ซึ่งจะต้องมีความสมดุลระหว่างความเสี่ยงต่ออันตรายและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เรามีทั้งบางกลุ่มที่สมยอมกับข้าราชการตัวพ่อตัวแม่ที่ขาดจริยธรรม แต่ส่วนใหญ่ละเลยไม่สนใจที่จะทราบข้อมูล ทำให้สังคมต้องสูญเสียงบประมาณไปนับพันล้านบาทในแต่ละปี บางปีเป็นหมื่นหมื่นล้านบาท  และแม้ในปัจจุบันก็ไม่มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงและประโยชน์ต่อพื้นที่ต่อชุมชนอย่างไรบ้างอย่างมีความก้าวหน้าเป็นมาตรฐานแต่อย่างไร

2.2 การลดอันตรายให้น้อยที่สุด การทำงานต้องคาดถึงผลเลิศทางสังคม โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายตามมา

2.3 การสร้างประโยชน์ให้สูงสุดของสังคม ข้าราชการตัวพ่อตัวแม่มักจะกล่าวลอยๆ ถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งมักจะอ้างการเสริมสร้างศักยภาพของตนเพื่อจะได้ทำงานรับใช้ประชาชนได้อย่างดีที่สุด แต่ล้วนไม่มีความสมเหตุสมผลทั้งสิ้น

3. หลักยุติธรรม  (justice) จะต้องเป็นที่แจ่มชัดเป็นที่ชี้ให้ยุติได้ว่ามีทั้งความเป็นธรรม (สะท้อนจากการไม่ทอดทิ้ง เพิกเฉย ละเลย แกล้งแสร้งทำ) และมีความเท่าเทียมเสมอภาค (สะท้อนได้จากการไม่แบ่งแยกบุคคลหรือกลุ่มที่จะได้ประโยชน์จากการดำเนินงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)

หากเราเพียงแต่จะตรวจสอบคุณลักษณะโครงการที่ไม่เป็นไปตามที่กำหนดเพียงเท่านั้น ก็เป็นการดำเนินการที่ปลายเหตุเสียแล้ว ป้องกันต่อสู้รักษาสิทธิและผลประโยชน์ได้เพียงเล็กน้อย ต้องใส่ใจตั้งแต่เริ่มต้นการทำงานของข้าราชการตัวพ่อตัวแม่ทั้งหลาย อันจะทำให้เราได้รับประโยชน์สูงสุด ไม่สูญเสียงบประมาณโดยผลตอบแทนหรือตุณประโยชน์น้อยเกิดขึ้นเต็มบ้านเต็มเมือง


———–xxxxxxxxxxxxxx—————

Proudly powered by WordPress