วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

การใช้หมวกนิรภัย

ความคิดเห็นในการใช้หมวกนิรภัย มอเตอร์ไซต์ ได้เพิ่มจำนวนขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540 และใช้เป็นประจำทุกวันจนกระทั่งวัยรุ่นบางคน อาจจะรู้สึกขาดอะไรไปสักอย่างถ้าวันไหนไม่ได้ขี่มอเตอร์ไซต์  แต่ถึงแม้จะมีความรู้สึกอย่างนั้น แต่พฤตกรรมการขับขี่กลับละเลยหรือขัดกลับความรู้สึกไปเลย หากจะให้มีพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัย

สำหรับวัยรุ่น

เห็นว่า รถจักรยานยนต์ เป็นมากกว่าพาหนะในการเดินทาง แต่ถูกถือว่าเป็นส่วนประกอบของชีวิตทางสังคม เป็นเพื่อนคู่กายที่สร้างความอิสระ

เดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างใจ ลดความเบื่อ ความเซ็งกับการอยู่กับบ้าน ทำให้สามารถพาตัวเข้ากับกลุ่มเพื่อน หรือร่วมกิจกรรมทางสังคม เป็นหัวข้อสนทนาในวงเพื่อน  “ขี่ได้ทุกวันจะมีธุระหรือไม่ก็ไปเที่ยวได้ทุกวัน พอตอนเย็นปั๊บก็เอารถออกเที่ยวแล้ว  ถ้าไม่ขี่รถออกเหมือนขาดอะไรไปอย่าง เย็นมาต้องเล่นตะกร้อ เล่นบอล กลับบ้านอาบน้ำแต่งตัวขี่รถเที่ยว” วัยรุ่น ระบุถึงความสำคัญของมอเตอร์ไซค์ การขี่มอเตอร์ไซค์สำหรับวัยรุ่นนั้น ทำให้มีจุดเด่น จุดดึงดูดใจเพื่อนและเพศตรงกันข้าม เป็นเรื่องท้าทาย เป็นศักดิ์ศรี หรือแม้แต่เป็นเครื่องแก้ความเหงา และความโกรธ “คนมองกัน เริ่มจากขี่สิบคัน พอขี่ไปก็เจอคนโน้น คนนี้เพื่อนกันมารวมกันเป็นสามสิบคัน  ตำรวจยังไม่กล้าเลย ตำรวจแค่ขี่มามองและก็ไป ทำให้จิตใจของวัยรุ่นว่า มีพวกเยอะและรถแรงๆ กันทั้งนั้น และสวยๆ ทั้งนั้น เสียงดัง ดุ” อ.ลือชัยระบุในผลการวิจัย

“ถ้าเขาเลี้ยวรถมาหาทำให้คิดว่าต้องมีเรื่องแน่ๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่พูดคุยสนุกสนาน จะต้องมีปัญหาแน่ ไม่ต้องว่าอะไรหรอก ถ้ามีรถจอดเยอะๆ อาจจะตั้งข้อหาว่าจับกลุ่มกัน  อาจจะถึงขนาดยึดรถไปเลยถ้าตอบคำถามแปลกๆ ตำรวจพูดไม่เพราะ ชอบพูดมึง กู และส่วนมาก ไม่มีเลยพูดผม คุณ” วัยรุ่นพูดถึงพฤติกรรมของตำรวจ  กลุ่มวัยรุ่น ยังมองว่า การมีรถมอเตอร์ไซค์ดีกว่ามือถือ เพราะมือถือได้ยินแต่เสียง แต่ขี่มอเตอร์ไซค์ไปหาสาวได้เจอหน้าด้วย  “เวลาขับรถ มีมอเตอร์ไซค์คนอื่นมา เทียบ อัด (บิดคันเร่ง) แรงๆ เหมือนท้าทาย แล้วก็อัดแซงไป  เราก็ อัดตาม ตอนนั้นไม่ได้คิดถึงอะไร คิดว่าเป็นเรื่องของศักดิ์ศรี ถ้าตามไม่ทัน ก็จะนำรถไปแต่งเครื่องให้แรงขึ้น  จะเจอคนเดิมหรือเปล่าไม่รู้” วัยรุ่นสะท้อนความคิดไว้ในผลการวิจัย  วัยรุ่นยังบอกว่า เมื่อเจออุบัติเหตุ จากที่เคย ขับเร็วก็จะลดความเร็วลง เพราะกลัวว่าจะเกิด อุบัติเหตุ แต่ 2-3 วัน ก็กลับมาเหมือนเดิมอีก

การใช้มอเตอร์ไซค์ของกลุ่มวัยรุ่น จะไม่นิยมการใช้หมวกนิรภัย เพราะเห็นว่าการขี่รถเที่ยว การขับรถเป็นกลุ่ม หากใส่หมวกให้คุยเล่นไม่ได้ หรือโทรศัพท์ขณะขับรถไม่ได้ และยังเห็นว่า การสวมหมวกนิรภัย จะมีความรู้สึกแปลกๆ เทอะทะ เชย ถูกเพื่อนล้อ ทำให้ผมเสียทรงเวลาหันไปด้านหลังไม่สะดวก การใส่หมวกนิรภัย หากจะมีการใส่ ก็ใส่เพื่อกันตำรวจจับ วัยรุ่นยังมีค่านิยมบางอย่างเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์ เช่น เห็นว่า การมีกระจกข้างเป็นความเชย เกะกะลูกตา เป็นต้น

ส่วนกลุ่มชาวบ้าน

มอเตอร์ไซค์ถูกมองว่า เป็นความจำเป็นของยุคสมัย เพราะชีวิตผูกพันกับเวลามากขึ้น เช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นๆ และมอเตอร์ไซค์ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมากขึ้น เช่น ขี่ไปซื้อของ ซื้อกับข้าว ไปตลาดนัด ใช้รับส่งลูก หลานไปโรงเรียน ขี่ไปทำนา เป็นต้น

การใส่หมวกนิรภัยของกลุ่มชาวบ้านจะขัดแย้งกับการประกอบอาชีพทางการ เกษตรในหลายกรณี อาทิ การขับขี่รถจากการทำไร่ทำนาในขณะที่ตัวเปียก ชาวบ้านจึงเห็นว่า หมวกนิรภัยเป็นส่วนเกิน ชาวบ้านส่วนมากเห็นว่า การขับขี่ในละแวกบ้าน ไม่เสี่ยงอันตราย หมวกนิรภัยจึงไม่จำเป็น บางชุมชนกลับมองว่า การสวมหมวกนิรภัย เป็นการแสดงความกลัวเกินเหตุ หมวกจึงเอาไว้ใส่เวลาเข้าเมือง กันตำรวจจับ แต่ก็มีบางคนที่ใส่จนชิน แต่ไม่ใช่เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ แต่เพื่อกันแดด ลม ฝุ่น และแมลงมากกว่า

กลุ่มพนักงานโรงงาน

มองรถมอเตอร์ไซค์ว่า เป็นพาหนะในการเดินทางไปทำงาน และเป็นทรัพย์สิน เพราะการมีชิวิตของพนักงานโรงงานขึ้นอยู่กับตารางเวลา ในการเข้าออกงาน มอเตอร์ไซค์จึงเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก โดยเฉพาะการเข้าออกในการทำงานกะกลางคืน

“พนักงานโรงงาน ยังเห็นรถเครื่องเป็นเป้าหมายในการสร้างฐานะของครอบครัว เมื่อเก็บเงินได้ก็ซื้อรถเครื่องเป็นของตนเอง เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความภาคภูมิใจ และความสำเร็จในชีวิต”

อย่างไรก็ตาม ในการขับขี่รถจักรยานยนต์ กลุ่มพนักงานโรงงานจะมีประสบการณ์การขับขี่แบบวัยรุ่นมาก่อน กำลังอยู่ในระยะสร้างครอบครัวและมีงานทำ จึงมีความยับยั้งชั่งใจ และระมัดระวังในการใช้รถเลือกรถที่มีสภาพดี และสวมหมวกนิรภัยแบบเต็มใบ โดยเฉพาะในการขับขี่รถทางไกล หรือบนถนนใหญ่

ที่เหมือนกับกลุ่มวัยรุ่น คือ รถของพนักงานโรงงานจะไม่มีกระจกข้าง โดยเห็นว่า กระจกหลอกตา เชยไม่สวย ไม่เหมาะกับรถ เกะกะ และคนอื่นไม่ใส่กัน จึงมักจะถอดกระจกเก็บไว้ แต่จะใส่เมื่อเดินทางไกล เพื่อกันตำรวจจับ

ส่วนภาวะเสี่ยงต่ออุบัติเหตุของผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์กลุ่มนี้ คือ พฤติกรรมที่ผลมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังเลิกงาน และการเข้าออกงานเวลาดึก

สุดท้าย กลุ่มผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มองว่า มอเตอร์ไซค์ คือ เครื่องมือทำมาหากิน มักใช้รถสภาพดี แข็งแรง มีอุปกรณ์ครบ และมีการขับขี่อย่างระมัดระวัง เพราะมีธรรมเนียมปฏิบัติว่า หากเกิดอุบัติเหตุ จะต้องรับผิดชอบต่อผู้โดยสาร จึงเป็นกลุ่มที่มีการใช้หมวกนิรภัยสูงที่สุด

“เหตุผลสำคัญ คือ ทำตามระเบียบของวิน ที่มีการตกลงไว้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่กลุ่มนี้ กลับมีพฤติกรรมการขับขี่ที่ฝ่าฝืนกฎจราจรมากที่สุด อาทิ การขับรถย้อนศร การฝ่าไฟแดง การเลี้ยว การกลับรถในที่ห้าม ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องที่ยืดหยุ่นได้ เพราะเคลียร์กับตำรวจแล้ว” ผลการวิจัยระบุ

ผลการวิจัย ยังระบุว่า การไม่สวมหมวกนิรภัยของกลุ่มต่างๆ นอกเหนือจากบริบทของการขับขี่แล้ว ยังพบว่า สาเหตุของการไม่สวมหมวกนิรภัยมาจากมาตรฐานของหมวกนิรภัยเอง โดย พบว่า ผู้สวมมีปัญหากับลักษณะของหมวก เช่น 64.2% ใส่แล้วร้อน 53.2% ใส่แล้วรู้สึกเหม็นอับ 47.81% ได้ยินเสียงไม่ชัด 41.6% รู้สึกว่า หมวกเป็นภาระในการจัดเก็บ 41.6% รู้สึกหนักหัว และ 35.8% มองเห็นไม่ชัด

ลำดับ เหตุผล จำนวนความเห็นการไม่สวมหมวกนิรภัย (%)

1 ใส่แล้วร้อน 64.2%

2 ใส่แล้วรู้สึกเหม็นอับ 53.2%

3 ได้ยินเสียงไม่ชัด 47.81%

4 รู้สึกว่า หมวกเป็นภาระในการจัดเก็บ 41.6%

5 รู้สึกหนักหัว 41.6%

6 มองเห็นไม่ชัด 35.8%

การสวมหมวกนิรภัย เป็นพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการใช้รถ และเชื่อมโยงกับการดำเนินชีวิตของแต่ละกลุ่ม การใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเดียว หรือการรณรงค์โดยขาดการนำบริบทเหล่านี้มาพิจารณา จะทำให้ไม่มีการดำเนินการอย่างแยกแยะ ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ หรือได้รับความร่วมมือ

ในส่วนของหมวกนิรภัยก็มีปัญหาในตัวเองที่ขัดขวางการใช้ การใช้วิชาการออกแบบอุตสาหกรรม และการใช้มาตรการทางตลาดเชิงสังคม เพื่อสร้างค่านิยม หรือหนุนค่านิยมบางอย่าง เพื่อเอื้อต่อการขับขี่รถอย่างปลอดภัย เป็นสิ่งที่ควรนำมาใช้

เราจะเห็นค่านิยมของคนหลายๆ กลุ่ม ในการมีและใช้มอเตอร์ไซค์ ซึ่งค่านิยมบางอย่าง มีผลต่อความปลอดภัยต่อการใช้รถใช้ถนนของผู้ที่ขับขี่รถเองและผู้อื่น ทุกฝ่ายจึงควรตระหนักในการแก้ปัญหา เพราะอุบัติเหตุ ได้ส่งผลกระทบอย่างสูงต่อสังคมปัจจุบัน การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเกือบเป็นการเสียชีวิตสูงสุดในแต่ละปี หากไม่ช่วยกันความสูญเสียก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น

การเพิ่มค่าปรับจากการไม่สวมหมวกนิรภัย ที่ปัจจุบันปรับ 500 บาท  ให้เพิ่มขึ้น น่าจะลดปัญหาลงได้  แต่ก็อาจจะมีปัญหาในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฏหมายที่ แม้ในปัจจุบันก็ปรับกันอยู่เพียง 100-200 บาท เท่านั้น

xxxxxxxxxxx

Proudly powered by WordPress