ความแห้งแล้งจากเศรษฐศาสตร์การเมืองเป็นเรื่องเกี่ยวกับอิทธิพลของการเมืองการปกครองต่อผลลัพธ์อย่างถึงแก่นของประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยจะสามารถมองว่าความแห้งแล้งมาจากเศรษฐศาสตร์การเมืองได้ใน 4 มิติ ดังนี้
1.มิติของการวิเคราะห์แบบองค์รวม (Totality)
การเปลี่ยนแปลงแทนที่ทางกายภาพในประเทศที่ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งรุนแรงขึ้น ระยะเวลายาวนานขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการสถาปนาความมั่งคั่งของชนชั้นขุนนาง โดยมีชนชั้นของนายทุน ทำให้เกิดการจัดทำโครงการที่ไม่เกิดผลประโยชน์ที่คุ้มค่ากับประชาชนที่อยู่รอบๆ โครงการ ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าลดทอนบ่อเกิดของความมั่งคั่งโดยรวมของผู้คน (source of all wealth) โดยภาคการตรวจสอบของประเทศล้มเหลว ตั้งแต่สำนักงบประมาณ และองค์กรอิสระต่างๆ
2.มิติในเชิงประวัติศาสตร์ (historical dimension)
พื้นฐานปรัชญาสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยถูกเบี่ยงเบนและปิดกั้นมาอย่างยาวนาน ทำให้การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาแทบไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นพัฒนาต่อมาก็เป็นเพียงแค่ถามว่าประชาชนต้องการอะไร แล้วตอบสนองในระยะสั้น ไม่สามารถเกิดความร่วมสร้างวิสัยทัศน์ร่วมพัฒนาในระยะยาวได้เลย จึงเกิดแล้งซ้ำซาก แต่ละปีก็จะออกมาแย้มแป้นถือป้ายถือหัวส่งน้ำ้จากรถน้ำใส่ภาชนะประชาชน ส่วนหน่วยงานที่รับผิดชอบการชลประทานก็เร่งขยายอาณาจักรภายใต้วาทกรรมการป้องกันภัยแล้ง แต่ปรากฏว่าปัญหาความขัดแย้งในการขาดแคลนน้ำเป็นพื้นที่ในเขตชลประทานเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งเป็นความต้องการใช้นำ้ที่มากมหาศาลกว่าน้ำอุปโภคบริโภค
3.มิติในเชิงความขัดแย้ง (Dialectic)
ด้วยศักยภาพการแก่งแย่งของมนุษย์ที่ไม่จำกัด อีกทั้งติดกับดักวัตถุนิยม (ดัดแปลงธรรมชาติให้เป็นไปตามต้องการของคน) จนทำให้มนุษย์มองไม่เห็นความขัดแย้งกับธรรมชาติ จึงทำให้ไม่มีระเบียบการปกครองที่มาคัดค้านทัดทานความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติมากนัก ที่มีอยู่ก็ถือว่าเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง ถูกละเลยเพิกเฉย สร้างความอยุติธรรมกับธรรมชาติอย่างไม่ยี่หระต่อผลที่จะตามมา ซึ่งต่อมาจะไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ด้วยซ้ำ
4.มิติด้านการวิพากษ์ (Critical)
ประชาชนส่วนใหญ่ให้นิยามคำว่าแล้งไม่ตรงกับนิยามของขุนนางพรรคราชการล้าหลังที่คอยจะสร้างอาณาจักรให้ใหญ่โต มุ่งที่จะสถาปนาความมั่งคั่งของพรรค (แนวทางการวิพากษ์ในพื้นที่ตามตัวอย่างนี้ ไม่ใช่ไม่คิดไม่มองอะไร https://www.youtube.com/watch?v=4WcMVtvA7hY)
———————–//////////////////////—————————