พื้นที่แล้งซ้ำซาก หมายถึง พื้นที่ที่มีความแห้งแล้งด้านการเกษตรและเป็นพื้นที่เกิดขึ้นเป็นประจำหรือบ่อยครั้ง
ความแห้งแล้งด้านการเกษตร หมายถึง สภาวะที่มีฝนน้อยหรือไม่มีฝน ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำสำหรับพืช ทำให้พืชได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง ท โดยแบ่งระดับความถี่ของการเกิดความแห้งแล้ง เป็น 3 ระดับ คือ
1.ระดับรุนแรงมาก เป็นสภาวะที่ประสบความแห้งแล้ง 1-3 ปีต่อครั้ง
2.ระดับรุนแรงปานกลาง เป็นสภาวะที่ประสบความแห้งแล้ง 4-5 ปีต่อครั้ง
3.ระดับรุนแรงเล็กน้อย เป็นสภาวะที่ประสบความแห้งแล้ง 6-10 ปีต่อครั้ง
แนวทางการพัฒนาพื้นที่แล้งซ้ำซากเพื่อการเกษตร
พื้นที่แล้งซ้ำซากเป็นพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ดังนั้นการจัดการเรื่องน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะต้องให้มีการเก็บกักน้ำ การชะลอการไหลของน้ำ และการเพิ่มระยะเวลาการไหลของน้ำให้ยาวนานขึ้น เนื่องจากแหล่งที่มาของน้ำในประเทศไทย ได้รับน้ำจากน้ำฝนในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พายุไต้ฝุ่น และดีเปรสชั่นที่พัดผ่าน ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ซึ่งได้รับน้ำฝนประมาณปีละ 732,512 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นจึงต้องพิจารณาการเก็บกักน้ำฝนเหล่านี้ไว้ใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อนำมาพัฒนาพื้นที่แล้งซ้ำซากให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น แนวทางการพัฒนา มีดังนี้
1. การรักษาและฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้
ป่าไม้ช่วยในการเก็บกักน้ำฝน เพิ่มความชื้นในอากาศและช่วยให้เกิดการสะสมน้ำในดินและน้ำใต้ดิน ป่าที่มีสภาพความหนาแน่นทึบมาก จะช่วยให้มีการเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้มากขึ้นด้วย และช่วยชะลอการไหลบ่าของน้ำ ไม่ให้ไหลลงสู่ที่ต่ำอย่างรวดเร็วและรุนแรง ป่าไม้ที่สมบูรณ์จะช่วยให้ มีน้ำไหลในลำธารตลอดทั้งปี
2. การสร้างแหล่งเก็บกักน้ำ
เพื่อรักษาน้ำไว้ใช้ประโยชน์ให้เพียงพอตลอดฤดูกาลเพาะปลูก เป็นแหล่งทุนน้ำสำรองในฤดูแล้งหรือในระยะฝนทิ้งช่วง แหล่งเก็บกักมีหลายรูปแบบ เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก การสร้างฝายทดน้ำ การขุดลอก คู คลอง หนองบึง ที่ตื้นเขิน การสร้างสระเก็บน้ำในไร่นา การสร้างถังเก็บน้ำฝน
3. ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ
การใช้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำร่วมกับการปลูกหญ้าแฝก เพื่อเก็บกักน้ำ น้ำจะสามารถซึมลงดินได้มากขึ้นและช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ดิน
4. การจัดระบบการปลูกพืชที่เหมาะสม
โดยทั่วไปฤดูกาลเพาะปลูกของประเทศไทย จะอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม แต่มีบางพื้นที่อาจมีระยะเวลาก่อนหรือหลังจากนี้ได้ ดังนั้นการจัดระบบการปลูกพืชจึงต้องคำนึงถึง สภาพพื้นที่ ปริมาณน้ำฝน การกระจายของฝน โดยควรพิจารณาเลือกปลูกพืชที่มีอายุสั้น ใช้น้ำน้อย ทนแล้งและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนที่เกิดความเสียหายเนื่องจากการขาดน้ำได้
5. การเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน
อนุภาคของอินทรียวัตถุประกอบกันเป็นโครงสร้างมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ มีช่องว่างขนาดเล็ก ทำให้มีพื้นที่ผิวในการดูดซับน้ำได้มากเป็นพิเศษ จึงช่วยให้ดินสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้มากขึ้นโดยเฉพาะน้ำใต้ดิน และช่วยให้ดินมีการซาบซึมน้ำและการระบายอากาศได้ดีและช่วยลดการสูญเสียน้ำ
————————-555————————-