บุคลากรในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินบนท้องถนนเมื่อเกิดอุบัติเหตุทางถนน (Emergency Medical Service System – EMS) ประกอบไปด้วยคนจากหลายหน่วยงาน โดยภาระหน้าที่ คนเหล่านี้อาจไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็ได้ ตัวอย่าง เช่น
องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยให้บริการโทรศัพท์เพื่อแจ้งเหตุแก่ศูนย์กู้ชีพ ยามรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่สื่อสาร และเจ้าหน้าที่กู้ชีพระดับต่างๆ บุคคลเหล่านี้มีส่วนช่วยให้ EMS เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ “ห่วงโซ่แห่งการอยู่รอด” (chain of survival) ไม่ขาดตอน
บุคลากรต่างๆใน EMS มีดังนี้
1. บุคลากรด่านหน้า (First Responder – FR)
2. เจ้าหน้าที่กู้ชีพขั้นพื้นฐาน (Emergency Medical Technician Basic – EMT-B)
3. เจ้าหน้าที่กู้ชีพขั้นกลาง (Emergency Medical Technician Intermidiate – EMT-I)
4. เจ้าหน้าที่กู้ชีพขั้นสูง (Paramedic)
5. เจ้าหน้าที่สื่อสาร (Emergency Medical Dispatcher – EMD)
1 บุคลากรด่านหน้า (First Responder – FR)
บุคลากรด่านหน้ามักจะเป็นบุคคลคนแรกๆที่จะได้พบผู้ป่วย โดยอาจเป็นใครก็ได้ เช่น ตำรวจจราจร พนักงานดับเพลิง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่กู้ภัย หรืออาสาสมัครกู้ภัยต่างๆ บุคลากรด่านหน้าจำเป็นต้องมีความรู้ด้านการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินอยู่บ้างโดยเขาจะเป็นผู้ที่เข้าไปดูอาการของผู้ป่วยและรายงานข้อมูลให้หน่วยกู้ชีพทราบถ้าต้องการรถพยาบาลระหว่างที่รถพยาบาลเดินทางมาที่เกิดเหตุบุคลากรด่านหน้าจะไม่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น แต่จะดูแลผู้ป่วย เช่น ถ้าไม่หายใจก็จะทำการ CPR ถ้ามีอาการบาดเจ็บก็จะทำการปฐมพยาบาลตามสมควร
2 เจ้าหน้าที่กู้ชีพขั้นพื้นฐาน (Emergency Medical Technician Basic – EMT-B)
เป็นบุคลากรที่มีความสามารถในระดับสูงกว่า FR สามารถให้การช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินที่หลากหลายมากขึ้นได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ EMT-B มักจะไปกับพร้อมกับรถพยาบาล โดยสามารถใช้ อุปกรณ์ในการยึดตรึง ผู้บาดเจ็บ (immobilization) และการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยวิธีต่าง ๆ สำหรับหลักสูตร EMT-B ที่กระทรวงสาธารณสุขทดลองผลิตออกมานั้นประกอบด้วยการอบรมในหัวข้อต่างๆ มีการปูพื้นฐานทางด้านการแพทย์ด้านกายวิภาค และศึกษาระบบต่าง ๆ ในร่างกาย มีการอบรมการช่วยเหลือต่างๆ ที่กระทำภายนอกร่างกาย (Basic Life Support – BLS) รวมทั้งการช่วยทำคลอด และทราบขั้นตอนของ EMT-I หรือ Paramedic ในการทำการช่วยเหลือเชิงรุก (Advance Life Support – ALS) ได้เพื่อให้สามารถช่วยเหลือบุคลากรเหล่านั้นใส่ท่อช่วยหายใจ (Endotracheal Intubation) และให้น้ำเกลือ (Starting IV) ได้ สำหรับหลักสูตร EMT-B ของกระทรวงสาธารณสุขนั้น มีระยะเวลาการอบรมทั้งหมดจำนวน 110 ชั่วโมง ใช้ระยะเวลา 1 เดือนเต็ม รวมทั้งมีการฝึกภาคปฏิบัติในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลภายใต้การกำกับของแพทย์และพยาบาล
3 เจ้าหน้าที่กู้ชีพขั้นกลาง (Emergency Medical Technician Intermidiate – EMT-I)
EMT-I จะมีความสามารถมากกว่า EMT-B โดยสามารถทำการช่วยเหลือ ระดับ ALS ได้บางอย่าง เช่น การกระตุ้นหัวใจด้วย defibrillation อัตโนมัติ (แต่ต้องได้รับการอนุมัติจากแพทย์เสียก่อน)
4 เจ้าหน้าที่กู้ชีพขั้นสูง (Paramedic)
Paramedic สามารถให้การช่วยเหลือในระดับสูงที่สุดใน EMSS โดยสามารถให้การช่วยเหลือเชิงรุก (ALS) ได้ในสภาวะแวดล้อมนอกโรงพยาบาล (pre-hospital care) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าทำได้ดีกว่าแพทย์ เพราะแพทย์ทั่วๆ ไปไม่เคยรักษาคนไข้ในสภาวะแวดล้อมนอกโรงพยาบาลมาก่อน ซึ่งกล่าวได้ว่าต่างจากสภาพแวดล้อมภายในโรงพยาบาลอย่างมาก ตัวอย่างเช่น ความไม่พร้อมของแสงไฟและมีเสียงรบกวนที่ดังจากยวดยานบนถนนตลอดเวลาทำให้ฟังเสียงชีพจรไม่ได้ยิน
5 เจ้าหน้าที่สื่อสาร (Emergency Medical Dispatcher – EMD)
เป็นบุคลากรที่ได้รับการอบรมขึ้นพิเศษเพื่อทำหน้าที่รับโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือฉุกเฉินทางการแพทย์ สามารถซักถามรายละเอียดอาการผู้ป่วยให้คำแนะนำในการช่วยเหลือเบื้องต้นก่อนที่จะประสานงานเพื่อส่งรถพยาบาลออกไปในที่เกิดเหตุ โดยทั่วไป EMD จะใช้เทคนิคในการถามอาการผู้ป่วยอย่างเป็นขั้นตอน และจะมีสมุดคู่มือเป็นขั้นตอน (flow chart) เพื่อช่วยในการสอบถามและให้คำแนะนำต่างๆ
อ้างอิง
1. เอกสารประกอบการฝึกอบรมวิชา “ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน”
หลักสูตรเจ้าหน้าที่บริหารงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รุ่นที่ 11
2. http://www.oknation.net/blog/print.php?id=233643