คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๐ รับทราบและเห็นชอบให้หน่วยงาน ที่มีภารกิจด้านการบริหารจัดการด้านสาธารณภัย ดำเนินการตามบัญชาของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต(Emergency Response Team : ERT)
ซึ่งเป็นการจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นที่มีอยู่ของหน่วยปกติ ไว้ตั้งแต่ภาวะปกติ เพื่อให้ศูนย์บริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติสามารถที่จะเรียกใช้ได้ทันทีในยามฉุกเฉิน โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤตในแต่ละประเภทภัยที่เกิดขึ้น
ดังนั้น เพื่อให้การเตรียมความพร้อมในการเผชิญภัยพิบัติของชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤตบังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมตามมติคณะรัฐมนตรีและบัญชาของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และให้สอดคล้องกับภารกิจของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ซึ่งจะส่งผลดีต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนในระยะแรกกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤตประจำไว้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต เขตละ ๑ ทีม ทีมละ ๑๐ คน รวม ๑๒๐ คน และที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน ๒ ทีม ทีมละ ๑๐ คน รวม ๒๐ คน เพื่อให้การสนับสนุนจังหวัดและกรุงเทพมหานครเมื่อเกิดสาธารณภัยขนาดใหญ่ และมีความซับซ้อนเกินขีดความสามารถในการรับมือของทีมกู้ชีพกู้ภัยและหน่วยเผชิญเหตุในพื้นที่
และในระยะต่อไปกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะดำเนินการจัดตั้งชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต ให้ครอบคลุม ทุกจังหวัด ทั้งนี้เพื่อให้ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤตที่จัดตั้งขึ้น สามารถเผชิญกับสาธารณภัยทุกประเภทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปฏิบัติงานสนธิกำลังร่วมกับศูนย์บริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ และส่วนราชการอื่นที่มีอำนาจในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉิน ขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประเทศจากภัยพิบัติต่างๆได้
การเสริมสร้างชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (Emergency Response Team : ERT)
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความสามารถทักษะ และศักยภาพ ให้กับชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤตประจำกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้สามารถเผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉินขนาดใหญ่ได้ทุกประเภท
๒. เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานของชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต ให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์บริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติและสนธิกำลังกับส่วนราชการอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยได้ทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉิน
๓. เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์การเผชิญเหตุสาธารณภัยประเภทต่างๆ ให้แก่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต ให้เกิดความชำนาญพร้อมที่จะสนับสนุนช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ
แนวทางดำเนินการ
๑. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพิจารณาคัดเลือกเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤตเข้ารับการฝึกอบรม เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการปฏิบัติงานเฉพาะด้าน
๒. ประเมินผลการฝึกอบรม
๓. การฝึกซ้อมเพื่อทดสอบความรู้ความสามารถ และประเมินสมรรถนะในการปฏิบัติงาน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๑. ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต ประจำกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีประสบการณ์ ทักษะ และความชำนาญในการปฏิบัติงาน สามารถเผชิญสถานการณ์วิกฤตได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ เมื่อเกิดภัยพิบัติฉุกเฉิน
๒. ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤตประจำกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สามารถปฏิบัติงานร่วมกับศูนย์บริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ และสนธิกำลังกับส่วนราชการอื่นได้ทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉิน
๓. ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต มีศักยภาพและความพร้อมที่จะสนับสนุนช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยพิบัติ สามารถลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประเทศจากภัยพิบัติต่าง ๆ ได้
ปัจจุบันนับว่า E.R.T. มีความสำคัญยิ่งสำหรับการปฏิบัติงานภายใต้ภาวะการเมืองที่ตึงเครียด ประชาชนแบ่งฝ่ายกันหลากสี มีการชุมนุมประท้วง รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ในลำดับถัดมา และได้มีคำสั่งให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดเจ้าหน้าที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่ใน ศอ.รส. และ ศอฉ. ตามลำดับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดเจ้าหน้าที่ ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤติ จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ร่วมปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งขณะก็ยังปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
ที่มา : http://www.ryt9.com/s/prg/296151