วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

อำนาจนิยม (authoritarianism) เป็นรูปแบบการจัดระเบียบทางสังคมซึ่งมีลักษณะของการอ่อนน้อมต่ออำนาจหน้าที่ ไม่คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชน ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐ ผูกขาดการใช้อำนาจและจำกัดการตรวจสอบ  จากนิยามอำนาจนิยมดังกล่าว ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้อำนาจนิยมมายาวนาน และการจัดการภัยพิบัติก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอำนาจนิยมเช่นกัน

อำนาจนิยมไม่ดีหรา

สมัยก่อนตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ลงไป นับว่าดีและเหมาะสมกับประเทศไทย  แต่หลังจาก พ.ศ.2540 เป็นต้นมา อำนาจนิยมไม่เหมาะสม เนื่องจากในระบบอำนาจนิยมประชาชนมีหน้าที่รับผิดชอบต่อรัฐในแง่การปกครอง เชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งของผู้นำผู้ปกครอง ประชาชนต้องรับผิดชอบต่อรัฐ มีวิถีชีวิตสอดคล้องกับนโยบายของรัฐ อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด รัฐมิได้เกิดมาเพื่อประชาชน รัฐไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน แต่ประชาชนเกิดมาเพื่อรัฐ และต้องรับผิดชอบต่อรัฐ

การจัดการภัยพิบัติอยู่ภายใต้อำนาจนิยมอย่างไร

ข้อบ่งชี้หรือการแสดงออกที่เป็นไปตามแนวทางของอำนาจนิยม ได้แก่

1. หลอกลวงว่ามีการให้อำนาจแก่ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการดูแลตนเอง แต่แท้จริงเป็นเพียงการเพิ่มปริมาณ/กิจกรรมให้ชุมชนเข้ามาอยู่ภายใต้อาณาจักรของหน่วยงานรัฐ ที่กล่าวอ้างว่าดำเนินการส่งเสริมความเข้มแข็งในการดูแลตนเองให้กับชุมชน แท้จริงเป็นการดำเนินการเสริมความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาครัฐเข้าไปก้าวก่าย ชี้นิ้วสั่งการหรือรับผิดชอบในกิจกรรมงานของชุมชนเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากภาครัฐมิได้มีบุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ในชุมชนตลอด การเปิดโอกาสให้ชุมชนเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบตนเองให้มากที่สุดจะเป็นสิ่งที่เหมาะสม เนื่องจากชุมชนเป็นผู้ใกล้ชิดปัญหาตลอดเวลา การได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาพัฒนาพื้นที่ของตนเองด้วยภูมิปัญญาที่สั่งสมมาแต่บรรพบุรุษ ย่อมทำให้คนในพื้นที่เกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน รู้สึกหวงแหนทำเพื่อชุมชนของตน

2. มิได้มีแนวทางในการมุ่งเน้นการป้องกันมากกว่าการแก้ไขปัญหา (Anticipatory Government: Prevention rather than Cure) การปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ ควรจะดำเนินงานวิเคราะห์ที่ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และเสนอแนะแนวทางป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น และนำผลการวิเคราห์/ข้อเสนอไปปรึกษาหารือกับชุมชนมากกว่าการให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนหรือความต้องการของประชาชน อันจะเป็นการป้องกันการเกิดปัญหาในระยะยาวได้

3.ไม่ได้เป็นไปตามแนวทางการลดบทบาทการเป็นผู้ปฏิบัติมาเป็นผู้ควบคุม ตรวจสอบมาตรฐาน ซึ่งบทบาทผู้ปฏิบัตินั้นควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือองค์กรเอกชนรับผิดชอบ ในขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐก็จะเป็นผู้กำหนดมาตรฐาน ควบคุมการให้บริการที่เอกชนรับช่วงไปจากภาครัฐ

ส่งผลให้ประชาชนในชุมชนขาดความเข้มแข็ง อยู่ภายใต้การครอบงำการสงเคราะห์ของหน่วยงานภาครัฐ และเงินภาษีถูกจัดสรรไปกับบุคลากรภาครัฐ เครื่องมืออุปกรณ์ในการเตรียมดำเนินการแก้ไขปัญหา  มากกว่าที่จะจัดสรรในการป้องกัน  ในปัจจุบันนอกจากวิสัยทัศน์จะเป็นบริษัทป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจำกัดแล้ว ยุทธศาสตร์ยังมุ่งทำงานแข่งกับมูลนิธิปอเต๊กตึ้งมุ่งที่จะปฏิบัติการให้ครอบคลุมทุกตารางนิ้ว

————–xxxxxxxxxxxxxxx——————–