วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

แม้สิ่งแวดล้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์และเป็นระบบธรรมชาติที่เกื้อหนุนการดำรงชีพอยู่ทุกวันทุกเวลา

แต่มนุษย์กลับให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ประเด็นสิ่งแวดล้อมมักจะเป็นประเด็นสำคัญลำดับสุดท้ายตามหลังปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง

แม้จะมีความพยายามบูรณาการการจัดการสิ่งแวดล้อมให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แต่ก็ไม่บรรลุผลสำเร็จมากนัก สิ่งแวดล้อมกลับเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ยิ่งพัฒนาก็ยิ่งเสื่อมโทรม

ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง บุกรุกถือครองพื้นที่สาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาสิ่งแวดล้อมสะสมพอกพูนมากขึ้นทุกวันและดูเหมือนจะไม่มีทางออกหรือไม่มีมาตรการที่เห็นผลได้

แม้กระแสโลกาภิวัฒน์จะทำให้มีความพยายามที่จะพิทักษ์และสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกับสิ่งแวดล้อมในรูปของการยกระดับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมการวิเคราะห์ผลกระทบทางสังคม ทางสุขภาพและทางศิลปวัฒนธรรมอย่างรอบด้าน

โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน อีกทั้ง กระแสความตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก(climate change)หรือที่มักเรียกกันว่าภาวะโลกร้อน(global warming) อันเป็นปัญหาที่เกิดจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจกที่มาจากกิจกรรมของมนุษย์ในชั้นบรรยากาศมากจนเกินสมดุลธรรมชาติ ทำให้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ส่องลงมายังพื้นโลกไม่สามารถระบายออกสู่บรรยากาศชั้นนอกของโลกได้ จึงเกิดการกับเก็บความร้อนจนอุณหภูมิของโลกค่อยๆเพิ่มสูงขึ้น ก่อให้เกิดการแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น

การเพาะปลูกพืช กิจกรรมสำคัญของมวลมนุษย์ เป็นทั้งแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นแหล่งสะสมคาร์บอน (carbon sink, carbon storage, carbon sequestration)

กิจกรรมทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การปล่อยก๊าซมีเทนและไนตรัสออกจากนาข้าวและพื้นที่ปศุสัตว์ ทั่วโลกมีถึง 5,023 ล้านเฮกตาร์ หรือร้อยละ 40-50 ของพื้นที่ผิวโลก ก๊าซเรือนกระจกหลักที่ปล่อยมาจากพื้นที่เกษตร ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มีเทน (CH4) และไนตรัสออกไซด์ (N2O) โดยประมาณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดเป็นร้อยละ 10-12 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งโลก

ส่วนการเป็นแหล่งสะสมคาร์บอนในพื้นที่เกษตรหมายถึงการเก็บสะสมคาร์บอนในพืชและในดินผ่านกิจกรรมการเกษตรต่างๆ เช่น การปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ การปรับปรุงดินโดยใช้วัสดุอินทรีย์หรือวัสดุที่มีคาร์บอนสูง และการส่งเสริมระบบวนเกษตร รวมไปถึงการลดกิจกรรมที่เร่งการทำลายคาร์บอนในดิน โดยเฉพาะการเผาเศษซากพืชในพื้นที่เพาะปลูก

การลดก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรมเป็นแนวทางที่ประชาคมโลกกำลังให้ความสนใจเนื่องจากเป็นแนวทางที่มีศักยภาพเชิงต้นทุน (คุ้มค่าในการลงทุน) อย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคกิจกรรมอื่นๆ เช่น ภาคพลังงาน ภาคขนส่ง และภาคป่าไม้ เป็นต้น และยังมีแนวโน้มจะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว (long-term climate objectives) ได้อีกด้วย

แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกในการเพาะปลูกพืช

1.การลดมีเทนจากการหมักของระบบย่อยอาหารของสัตว์ โดยกิจกรรมที่แนะนำ ได้แก่ การปรับปรุงคุณภาพอาหารสัตว์ การปรับปรุงการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อสัตว์

2.การลดการปล่อยมีเทนและไนตรัสออกไซด์โดยการจัดการมูลสัตว์ เช่น การหมักแบบแอโรบิก การผลิตก๊าซชีวภาพและนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง การปรับปรุงวิธีการให้อาหารสัตว์ การปรับปรุงวิธีการใส่มูลสัตว์ในดิน และการยับยั้งกระบวนการไนตริฟิเคชั่น (Nitrification)

3.การลดไนตรัสออกไซด์ในดินเกษตร โดยการพิจารณาปริมาณและวิธีการใส่ปุ๋ยไนโตรเจน

4.การลดมีเทนจากนาข้าว โดยการจัดการน้ำและการจัดการเศษซากพืชในนา

5.กิจกรรมภาคการเกษตรที่มีบทบาทในการกักเก็บคาร์บอน ประกอบด้วย  การไถพรวนเชิงอนุรักษ์ การใช้ระบบวนเกษตร (Agro-forestry) การจัดการทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นการกักเก็บคาร์บอนในดินและชีวมวล

—————————-555555555555————————