วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

เมื่อเกิดสาธารณภัย บทบาทการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานจะต้องอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะ “ผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด” เมื่อเกิดภัยพิบัติ  หรือเมื่อเกิดโรคระบาดอย่างปัจจุบัน ผู้ว่าฯ ก็มีบทบาทตามที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ให้เป็น “ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด”  อีกทั้ง แนวทางการจัดการสาธารณภัยส่วนใหญ่ลอกแนวคิดมาจากญี่ปุ่นมาขับเคลื่อนตามญี่ปุ่น แต่ด้วยรูปแบบการบริหารจัดการการปกครองที่แตกต่างกัน จึงเรียกได้ว่า แนวคิดดีๆ ที่เอามาใช้ในประเทศไทยก็เป็นอันล้มเหลว

วิกฤตโควิด-19 สะท้อนว่าโครงสร้างการบริหารราชการแบบที่เป็นอยู่ของไทยนั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ทันต่อการแพร่ระบาดของโรค เพราะระเบียบข้อปฏิบัติงานต่างๆ ผูกอำนาจไว้กับส่วนกลาง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีงบประมาณ แต่เมื่อจะใช้ทำอะไร กลับต้องให้ผู้ว่าราชการอนุมัติก่อน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ซึ่งต้องตัดสินใจอย่างทันท่วงที และต้องมีประสิทธิภาพมากกว่านี้  หรือที่แย่กว่านั้น คือให้คนที่อยู่ในส่วนราชการส่วนภูมิภาคเป็นคนชี้นิ้วว่าจะใช้เงินงบประมาณของท้องถิ่นอย่างไรบ้าง  ดูเผินๆ  ก็คล้ายกับว่าจะไม่มีปัญหาอะไร  แต่ด้วยความไม่มีธรรมาภิบาลของราชการส่วนภูมิภาค ทำให้เรื่องมันไม่เคยจะทันกับการแก้ปัญหาหรือแก้ไม่ถูกจุดทุกครั้ง

เพราะไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกคนในจังหวัด แต่ต้องเชื่อฟังส่วนกลาง ซึ่งไม่อาจเข้าใจความเป็นไปของพื้นที่ ได้ดีมากกว่าคนในพื้นที่นั้นเอง  และยังไม่เคยมีวัฒนธรรมที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบราชการส่วนภูมิภาคใดๆ  เลย

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องรื้อระบบวัฒนธรรมอำนาจนิยมของราชการ ตัดราชการภูมิภาคที่จะเป็นประเด็นในการหวงอำนาจของนักการเมืองที่เข้ามาดูแลส่วนราชการในภูมิภาคตามสังกัดกระทรวงต่างๆ ทิ้งไป  ให้ราชการส่วนท้องถิ่นสามารถกำหนดแนวทางของตนเองได้ ให้มีอิสระในการกำหนดทิศทางของตนเอง