วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

ปัจจุบันปัญหาภัยพิบัติในประเทศไทย มีความสลับซับซ้อน แต่ละปัญหามีความเกี่ยวโยงกับหลายสาเหตุหลายปัจจัย และนับวันจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม ภัยสึนามิ อัคคีภัย ไฟป่า ภัยจากความแห้งแล้ง ภาครัฐเพียงส่วนเดียวไม่อาจป้องกัน แก้ไขบรรเทาภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและการจัดการแก้ไขปัญหาไม่สามารถกระทำได้โดยง่ายๆ อีกต่อไป ความรู้ที่มีอยู่หรือการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ อาจไม่สามารถจัดการได้หรือแม้กระทั่งใช้เทคนิคความรู้และวิธีการใหม่ๆ ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเสียหาย สร้างความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมมากมายมหาศาล

ลักษณะการแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหา มีลักษณะที่ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างแก้ปัญหา แต่ละหน่วยงานต่างก็มียุทธศาสตร์หรือศาสตร์ของกลวิธี(มีพระราชบัญญัติ/มีแผนระดับชาติ ระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น)เฉพาะของหน่วยงานตน 

ในแต่ละปีก็มีการดำเนินการแผนงานโครงการต่างๆ มากมาย โดยเป็นการอ้างว่า เพื่อที่จะสร้างความเข้มแข็ง ความมั่นคงปลอดภัยให้กับชุมชน แต่ทั้งหมดกลับมีมีลักษณะของการสั่งการมาจากข้างบนและเป็นการพัฒนาแบบแยกส่วน แยกเป็นเรื่องๆ ไม่เป็นองค์รวม ไม่พิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน 

แม้จะเป็นแนวคิดการพัฒนาเพื่อประชาชน ที่ทุกคนทุกหน่วยงานต้องการที่จะทำอะไรให้แก่ประชาชน รับใช้ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ นักการเมือง องค์กรการกุศลและองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ต่างๆ ล้วนแล้วแต่ต้องการจะทราบว่าชาวบ้านต้องการอะไร เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการขับเคลื่อนองค์กร ขับเคลื่อนภารกิจของคนเอง มีการใช้วิธีการในลักษณะการมีส่วนร่วม เพื่อค้นหาว่าประชาชนต้องการอะไร เพื่อนำความต้องการมาวางแผนสนองความต้องการของประชาชน

ที่กล่าวมาข้างต้น ฟังดูน่าจะดีแต่เมื่อดูอย่างถ่องแท้แล้ว ส่วนใหญ่ล้วนเป็นยุทธศาสตร์ที่มาจากการคาดเดาว่าชุมชน มีความต้องการจำเป็นหรือบางเรื่องก็ยกเอาแบบอย่างมาจากต่างประเทศมาใช้

ถ้าไม่นับว่าได้รับของอุปโภคบริโภคช่วยเหลือในยามที่ประสบภัยพิบัติแล้ว เรื่องอื่นๆ นั้นมันช่างห่างไกลจากประชาชนเหลือเกิน แม้กระทั่งการแจ้งเตือนภัย ก็ยังดูห่างไกล เวิ้งว้างซะเหลือเกิน ไม่สามารถบอกได้ว่าพื้นที่ไหนจะเสี่ยงจะประสบภัยอบ่างใดลักษณะไหนเป็นอย่างไร

——————-