วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

ในปัจจุบัน ชุมชนจำเป็นต้องมีการตกลง หรือตัดสินใจร่วมกันหลายๆเรื่อง  เรื่องส่วนมากมักจะเกิดข้อพิพาทกันตามมาอยู่เสมอ   ด้วยมีความคิด ความเห็น ข้อมูล  ทฤษฎีหรือข้อสรุปของสมาชิกคนหนึ่งไม่ตรงกับของสมาชิกอีกคนหนึ่ง

แนวทางที่ดี ที่สร้างสรรค์ ก็คือ สมาชิกทั้งสองต้องพยายามหาข้อตกลงร่วมกัน แต่ปรากฏการณ์ที่พบเห็นเป็นประจำ ก็คือ ไม่มีความพยายามที่จะหาข้อตกลงร่วมกัน ทำให้ผู้เขียนมองว่า ช่างเหมือนกันเหลือเกิน  กับการเมืองระดับชาติ

ถึงแม้จะมีการชี้แจงข้อดีข้อเสียของความคิดความเห็นเหล่านั้น  แต่ก็ขาดการตกลงใจหรือตัดสินใจร่วมกัน แต่ะคนก็ตั้งเป้าที่จะชนะ  ไม่ได้ตั้งเป้าที่จะสังเคราะห์ทางแก้ปัญหาในรูปแบบใหม่กันเลย มองในมุมประชาธิปไตย  ในมุมของการสร้างสรรค์สังคมมนุษย์ก็นับว่าดี  แต่ไม่ก้าวหน้า    บางเรื่องบางกรณีอาจจะถอยหลังลงคลองด้วยซ้ำไป  ทางแก้ไข ก็ไม่รู้จะชี้แนะได้อย่างไร เพราะไม่ฟังกันหรอก คงต้องฝากให้ระบบการศึกษาช่วยแก้ไข  ช่วยสร้างเยาวชนให้เติบโตมาเปลี่ยนปรากฏการณ์ดังกล่าวให้เป็นการพิพาทเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งปัจจุบัน ครูเป็นวิชาชีพเฉพาะ ที่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งจะต้องสอนให้นักเรียน มาสร้างสรรค์การพิพาทในรูปแบบใหม่ ให้เกิดขึ้นในสังคมให้ได้

ขั้นตอนการเตรียมความพร้อม ดังกล่าว คือ

๑. สอนให้นักเรียนรู้จักแยกแยะว่าอะไรใช่แไม่ใช่ความขัดแย้ง  รู้จักผลลัพธ์เชิงบวกจากความขัดแย้ง

๒. สอนให้เข้าใจกลยุทธ์พื้นฐานในการจัดการกับความขัดแย้ง(เช่นการถอนตัว การบังคับ การบรรเทา การประนีประนอมการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการต่อรองเชิงบูรณาการ)

๓. สอนเทคนิคการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและต่อรองเชิงบูรณาการ  โดย (๑) อธิบายสิ่งที่ต้องการ (๒) อธิบายว่ารู้สึกอย่างไร (๓)อธิบายเหตุผลสนับสนุนความต้องการและความรู้สึก (๔)รับฟังมุมมองของคนอื่น (๕) คิดแผนการ ๓ อย่าง สำหรับจัดการความขัดแย้งโดยรักษาผลประโยชน์ร่วมของทุกฝ่าย และ (๖) เลือกแผนการขึ้นมาหนึ่งอย่างและทำข้อตกลงที่ทุกฝ่ายให้คำมั่น

๔. สอนการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ด้วยการ (๑)ยุติความเป็นอริ  (๒)ทำให้คู่กรณียอมรับในขั้นตอนการไกล่เกลี่ย (๓)ช่วยให้คู่กรณีแก้ปัญหาด้วยการเจรจาจนสำเร็จ (๔) ทำข้อตกลงเป็นสัญญา

๕. นำโครงการไกล่เกลี่ยโดยเพื่อนผู้รักสันติมาใช้ปฏิบัติ

ที่มาข้อ 1-5 : Roger T.Johnson,Ed.D   and David W. Johnson, Ed.D   from 21st Century Skills : Rethinking How Students Learn , 2011

ในเมืองไทย มีข่าวนำเสนอการฆ่ากันตายเพราะความขัดแย้งในเรื่องน้ำเพื่อการเกษตรในภาคกลางและภาคเหนือ  ภาคอีสานยังไม่พบและจากการโทรคุยกับหลานๆในทุกระดับชั้นเป็นประจำ เลยถามว่ามีการสอนเรื่องดังกล่าวข้างต้น  ก็ไม่พบว่าจะมีการสอนเรื่องดังกล่าวในระบบการศึกษาไทย  มีที่ไหนมีการเรียนการสอนก็ช่วยบอกด้วย