เป็นที่ยอมรับกันว่า ความมุ่งหมายสำคัญของระบอบการปกครองทุกระบอบก็คือความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของราษฎร ยิ่งในระบอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญย่อมรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของราษฎร อันรัฐรับประกันว่าจะต้องล้มล้างหรือล่วงละเมิดมิได้เอาไว้โดยแจ้งชัด
หากรัฐล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในกรณีใด ๆ รัฐย่อมต้องรับผิด และในการนี้รัฐธรรมนูญย่อมจะวางกลไกสำหรับชี้ขาดว่า การกระทำใด ๆ ของรัฐที่เป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของราษฎร การนั้น ๆ ย่อมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
โดยที่รัฐธรรมนูญเป็นแม่บทของกฎหมาย บทกฎหมายธรรมดาจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญมิได้ กฎหมายใดหากขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้วกฎหมายนั้นย่อมเป็นอันใช้บังคับมิได้ (มาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540)
ดังนั้นหากรัฐอ้างกฎหมายมากระทำการใด ๆ อันเป็นการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของราษฎร การกระทำนั้นย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ในบรรดาสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลนั้นสิทธิที่สำคัญและเป็นที่หวงแหนกันที่สุดก็คือ สิทธิในชีวิตร่างกาย และย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอ
ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันก็ได้รับรองไว้โดยแจ้งชัดในมาตรา 31 วรรคแรก การที่รัฐธรรมนูญรับรองให้บุคคลมีเสรีภาพในร่างกายนี้ ย่อมมีความหมายครอบคลุมไปถึงการรับรองเสรีภาพในชีวิต ของบุคคล
และดังนั้นเมื่อกฎหมายรัฐธรรมนูญคุ้มครองเสรีภาพในร่างกายจึงย่อมมุ่งหมายรวมไปถึงเสรีภาพในชีวิตร่างกายของบุคคลนั่นเอง
ความข้างต้นนี้ยังมีความหมายต่อไปด้วยว่า นอกจากรัฐจะออกกฎหมายหรือกระทำการอื่นใด อันเข้าข่ายเป็นการจำกัดเสรีภาพในชีวิตร่างกายเกินเลยไปกว่าที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ หรือเกินกว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไม่ได้ (status negativus ; status libertatis) แล้ว
การรับรองเสรีภาพในชีวิตร่างกายยังส่งผลด้านกลับที่ทำให้รัฐต้องมี “หน้าที่” ในการคุ้มครองเสรีภาพในชีวิตร่างกายของบุคคลไม่ให้ถูกล่วงละเมิดทั้งจากลไกของรัฐเอง และจากราษฎรด้วยกันอีกด้วย (status positivus ; status civitatis)
หากรัฐละเลยหรือเพิกเฉยในการวางมาตรการหรือดำเนินการที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตร่างกายของบุคคล ทั้ง ๆ ที่รัฐอยู่ในฐานะที่กระทำได้ก็เท่ากับรัฐปล่อยให้เสรีภาพในชีวิตร่างกายของบุคคลสูญสลายถูกทำลายหรือไร้ค่าไป อันเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ขั้นพื้นฐานดั้งเดิมที่สุดของรัฐนั่นเอง และการละเลยเพิกเฉยเช่นนั้นย่อมมีค่าเท่ากับว่ารัฐล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในชีวิตร่างกายเสียเอง
หลักข้อนี้เป็นหลักที่ได้รับการรับรองทั้งทางวิชาการและทางกฎหมายมานานแล้ว ดังจะเห็นได้จากหลักทั่วไปว่าด้วยความรับผิดทางอาญา มาตรา 59 วรรคท้าย ซึ่งมีหลักว่า การงดเว้นการกระทำตามหน้าที่อันต้องกระทำเพื่อป้องกันผลอย่างหนึ่ง ย่อมมีค่าเท่ากับการกระทำให้เกิดผลอันนั้นนั่นเอง