การมีเครือข่ายภาคประชาชนที่มีประสิทธิภาพถือเป็นหัวใจสำคัญในการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประมาณปี 2549 รัฐบาลได้มีนโยบายเพิ่มจำนวนสมาชิก อปพร.ที่พร้อมปฏิบัติงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 ของประชากร โดยให้กระจายอยู่ในองค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาลระดับต่างๆ
นโยบายการพัฒนาศักยภาพ
1.ยกระดับขีดความสามารถ เพื่อให้มีความสามารถในการปฏิบัติงานอย่างแท้จริง
1.1 จัดการฝึกทบทวนตามความจำเป็นและตามความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ ควรจัดฝึกอบรมอย่างน้อย 2 ปีครั้งหนึ่ง
1.2 จัดฝึกอบรมเพิ่มศักยภาพเฉพาะด้าน เช่น ด้านกู้ชีพกู้ภัย (และให้จัดตั้งชุดปฏิบัติการกู้ชีพกู้ภัยประจำ อบต/เทศบาลขึ้น) ด้านสารเคมี เป็นต้น
2.การสนับสนุนเรื่องสิทธิและสวัสดิการแก่ อปพร.
2.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจพิจารณาตั้งงบประมาณและเบิกจ่ายค่าเครื่องแต่งกายของ อปพร. คนละไม่เกิน 2 ชุด (ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท ๐๘๐๘.๒/ ว ๓๗๙๕ ลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ และหนังสือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด่วนที่สุด ที่ มท ๐๘๐๘.๒/ว ๒๓๗๓ ลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๗)
2.2 การใช้เครื่องวิทยุคมนาคมในคลื่นความถี่ของทางราชการ 162.800 MHz ซึ่งกรมไปรษณีย์โทรเลขจัดสรรให้ใช้ในภารกิจของ อปพร.โดยมอบหมายให้กรม ปภ.เป็นผู้ควบคุมดูแล
2.3 สิทธิได้รับการคุ้มครอง ตามระเบียบและกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและหน้าที่อื่นตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชา (ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยกิจการอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ.๒๕๕๓ หมวด ๔ (๓))
2.4 สามารถเบิกค่าใช้จ่ายค่าจ้างเหมาหรือจ้างแรงงานแบกหามสิ่งของ รวมทั้งค่าจ้างเหมาแรงงานจัดหีบห่อให้เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ ในกรณีมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอให้จ้างบุคคลภายนอกได้ตามจำนวนที่เห็นสมควร ตามอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ (หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๕๖ ด้านการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย)
2.5 เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปฝึกอบรมหรือมีคำสั่งไปราชการ ให้เบิกค่าใช้จ่ายตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น