สิ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรจะดำเนินการเป็นอย่างยิ่งในการบริหารจัดการภัยพิบัติ คือ การสร้างกระบวนการทำงานกับชุมชน ซึ่งชุมชนเป็นตัวแทนการขัดเกลาทางสังคมที่มีบทบาทสร้างกระบวนการขัดเกลาทางสังคมทางตรง
หรือการขัดเกลาทางสังคมในระดับปฐมภูมิ เพราะมีความใกล้ชิดกับสมาชิก เราจะเห็นได้ว่าหากชุมชนมีวัฒนธรรมในการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติที่ดี เป็นต้นว่า วัฒนธรรมในเรื่องของการวางแผน การไม่ประมาท การเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการบริหารจัดการภัยพิบัติ
และที่สำคัญคือ การเน้นการเผชิญกับภัยพิบัติหรือสภาวะวิกฤตต่างๆบนหลักการของการพึ่งพาตนเองเป็นหลัก ชุมชนดังกล่าวก็จะสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีสติ คือ ไม่ทำให้เหตุแห่งภัยพิบัตินั้นทำลายความเป็นชุมชนจนสูญสิ้น
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการสร้างกระบวนการทำงานกับชุมชน เพื่อสร้างวัฒนธรรมดังกล่าว อันเป็นการเน้นมิติเชิงนามธรรมในเรื่องของ สำนึกทางวัฒนธรรมการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ อาทิ การสร้างข่ายจิตอาสาในชุมชน มีการออกแบบการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เกิดสำนึกทางวัฒนธรรมดังกล่าว เป็นต้นว่า การพาไปศึกษาดูงาน, การมีเวทีสรุปการเรียนรู้, มีการถอดองค์ความรู้ของชุมชนที่มีกระบวนการสร้างสำนึกทางวัฒนธรรมที่ดี (good practice) แล้วนำมาเรียนรู้ร่วมกัน, มีการให้รางวัลสำหรับชุมชนที่มีกระบวนการที่โดดเด่น
โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องมีคุณสมบัติที่พร้อมในการดำเนินการ ดังนี้
…………1) มีนโบบายและความมุ่งมั่นของผู้บริหาร (Policy and management commitment)
…………2) มีทีมงานบริหารภาวะวิกฤติ ผู้รู้หน้าที่ และพร้อมดำเนินการเมื่อเกิดภาวะวิกฤติ
…………3) มีแนวทางการบริหาร
…………4) มีแผนปฏิบัติการ
…………5) มีระบบการสื่อสาร เครื่องมือสื่อสาร ผู้สื่อสาร และวิธีการสื่อสาร