อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) เป็นอาสาสมัครในสังกัดหน่วยงานของรัฐเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้อำนวยการศูนย์ อปพร. ในกิจการป้องกันภัยฝ่ายเรือนตามพระราชบัญญัติป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2522 มาตรา 8 (มี 16 กิจกรรม/งานด้านป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) ปัจจุบันมีสมาชิกมากถึง 1.2 ล้านคน
ต้นสังกัดของสมาชิก อปพร.
- สังกัดศูนย์ อปพร.กลาง มีอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.กลาง
- สังกัดศูนย์ อปพร.ศูนย์ ปภ.เขต มีผู้อำนวยการศูนย์ ปภ.เขต เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.ศูนย์
- สังกัดศูนย์ อปพร.จังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.จังหวัด
- สังกัดศูนย์ อปพร.เขต (แต่ละเขตใน กทม.) มีผู้อำนวยการเขตเป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.เขต
- สังกัดศูนย์ อปพร.อำเภอ มีนายอำเภอเป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.อำเภอ
- สังกัดศูนย์ อปพร.อบต./ทม./ทต./ทน. มีนายยก อบต./นายกเทศมนตรีตำบล/นายกเทศมนตรีเมือง/นายกเทศมนตรีนคร เป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.อบต./ทม./ทต./ทน.
- สังกัดศูนย์ อปพร.เมืองพัทยา มีนายกเทศมนตรีเมืองพัทยาเป็นผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.เมืองพัทยา
การเบิกค่าตอบแทนสมาชิก อปพร.
การเบิกจ่ายค่าตอบแทน สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภายใต้คำสั่งของ ผอ. ศูนย์ (ผู้อำนวยการศูนย์ อปพร.) ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ว่าด้วยค่าใช้จ่ายของอาสาสมัครในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2560 ประกอบกับระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายให้แก่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560 ในอัตราต่อคนต่อวัน /คิดเป็นชั่วโมงการปฏิบัติหน้าที่ (ไม่ใช่ค่าตอบแทนรายเดือน)
หากเจ้าหน้าที่ อปพร. ปฏิบัติหน้าที่ไม่เกิน 4 ชั่วโมง จะได้ค่าใช้จ่าย 100 บาท หาก 4-8 ชั่วโมง จะได้เพิ่มอีก 100 บาท (รวมเป็น 200 บาท) และหากเกินกว่า 8 ชม. ขึ้นไป จะได้รับค่าใช้จ่ายเป็น 300 บาท
สิทธิประโยชน์ของสมาชิก อปพร.
1.เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพขนาดหนัก ตาม พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัยเนื่องจากช่วยเหลือราชการ การปฏิบัติงานของชาติ หรือการปฏิบัติตามหน้าที่มนุษยธรรม พ.ศ.2543 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและอัตราในการจ่ายเงินสงเคราะห์ และกำหนดลักษณะของความพิการทุพพลภาพขนาดหนักจนเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งในการประกอบอาชีพหรือในการดำรงชีพ พ.ศ.2544
2. เงินสงเคราะห์จากมูลนิธิ อปพร. กรณีพิการ สูญเสียอวัยวะ/แพทย์รับรักษาเป็นผู้ป่วยในเกิน 3 วัน ตามประกาศของมูลนิธิ
3. ได้รับเครื่องแต่งกายชุด อปพร.จากต้นสังกัด ไม่เกินคนละ 2 ชุดต่อปี
4. เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ เทียบระดับประเภททั่วไป ขั้นปฏิบัติงาน
5. การลดหย่อนอัตราค่าโดยสารรถไฟ เฉพาะชั้น 3
6. การลดหย่อนค่าโดยสารรถประจำทางของบริษัท ขนส่ง จำกัด สำหรับรถประจำทาง หมวดที่ 2 และหมวดที่ 3
7. ได้รับพระราชทางเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์
บทบาทสมาชิก อปพร.
- เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา เมื่อปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ผอ.ศูนย์ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามกิจการใน พรบ.ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2522 (แต่ห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่และทรัพย์สินของทางราชการทหาร (ม.48))
- กรณีสมาชิก อปพร.เป็นลูกจ้างของนายจ้าง หากลูกจ้างไปปฏิบัติงานตาม พรบ.ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2522 ไม่เกิน 30 วัน ในปีนั้นๆ ห้ามมิให้นายจ้างงดจ่ายค่าจ้าง ลดค่าจ้าง เลิกจ้าง ลงโทษ และไม่ให้ถือว่าระยะเวลา 30 วันนั้นเป็นการขาดงาน
การเปรียบเทียบค่าตอบแทนสมาชิก อปพร. กับค่าตอบแทน อสม.
- สมาชิก อปพร.ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 กำหนดให้ผู้อำนวยการ (ผู้มีหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตาม พรบ.ปภ.2550 มีผู้อำนวยการ 4 ระดับ คือ ผู้อำนวยการกลาง ผู้อำนวยการจังหวัด ผู้อำนวยการอำเภอ ผู้อำนวยการท้องถิ่น) จัดให้มีอาสาสมัครในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปูองกันและบรรเทาสาธารณภัย และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ผู้อํานวยการมอบหมาย และตามที่กําหนดในระเบียบของกระทรวงมหาดไทย (มาตรา ๔๑) ค่าตอบแทนขึ้นกับการสั่งใช้ตามภารกิจความรับผิดชอบในงานป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนตาม พรบ.ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2522 และอำนาจหน้าที่ตาม พรบ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ของผู้อำนวยการทั้ง 4 ระดับ
- อสม. ปฏิบัติหน้าที่หลักตามโครงการโครงการส่งเสริมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เชิงรุก เพื่อส่งเสริมบทบาทอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ปฏิบัติการเชิงรุก ในการปฏิบัติงานส่งเสริมสุขภาพในท้องถิ่นและชุมชน การดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ การดูแลผู้ป่วยและเฝ้าระวังโรคในชุมชน และเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ อสม. กระทรวงสาธารณสุขจึงออกระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าป่วยการของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ( อสม.) พ.ศ. 2552 กำหนดจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือนๆ ละ 600 บาท และยังมีการประกาศกระทรวงสาธารณสุข จ่ายอัตราค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นรายเดือนๆ ละ 500 บาท