วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

ยิ่งนับวันผมยิ่งเห็นว่าชีวิตของสรรพสิ่ง เต็มไปด้วยภยันตรายรอบด้าน มีรูปแบบต่างๆ กัน และมีวิวัฒนาการเพิ่มความลี้ลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เป็นเงาตามตัวอารยธรรมของมนุษย์นั่นเอง  เกิดเป็นจุลินทรีย์สมัยโบราณ สบายกว่าจุลินทรีย์ในปัจจุบันมาก เพราะไม่มียาปฏิชีวนะคอยฆ่า และจะเข้าเล่นงานคนก็ทำได้ง่าย เพราะคนสมัยนั้นไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่จุลินทรีย์ชนิดต่างๆ รวมทั้งที่ก่อโรคในคน ก็ยังดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ได้ โดยมีกลไกธรรมชาติของการกลายพันธุ์ เกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ ที่อยู่กับความยากลำบากเพราะมนุษย์เป็นผู้ก่อได้

ที่จริงในร่างกายมนุษย์เต็มไปด้วยจุลินทรีย์ โดยเฉพาะในระบบทางเดินอาหาร ระบบหายใจ และระบบทางเดินปัสสาวะ รวมแล้วทั้งร่างกายมนุษยืมีชีวิตอื่นอยู่มากกว่าจำนวนเซลล์ของร่างกายเราเอง การมีจุลินทรีย์ชนิดที่อยู่กันมาอย่างเกื้อกูลกันตามปกติเป็นสิ่งปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันทำหน้าที่คุ้มกันศัตรูให้เรา ไม่ให้จุลินทรีย์ก่อโรคเข้ามาได้ และความเสี่ยงของสุขภาพมนุษย์คือหากจุลินทรีย์เกื้อกูลเกิดน้อยลง ตัวเราก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากจุลินทรีย์ก่อโรค

การกินยาปฏิชีวนะบางชนิดเป็นเวลานาน เชื้อจุลินทรีย์เกื้อกูลในลำไส้ (เรียกชื่อว่า อี โคไล) ตายไปมาก จะเปิดช่องให้เชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคมุดผ่านระบบทางเดินอาหาร แล้วแพร่กระจายไปทั่วตัวได้ และคนผู้นั้นมีโอกาสรอดชีวิตน้อยมาก นี่คือความเสี่ยงของมนุษย์ ที่เกิดจากการฆ่าเพื่อน

ที่จริงผมตั้งใจจะเขียนเรื่องความเสี่ยงที่เกิดจากสังคมรอบข้าง ที่มีต่อชีวิตคนสมัยใหม่ โดยผมคิดว่ามนุษย์ในยุคปัจจุบันถูกครอบงำโดยลัทธิบริโภคนิยม ทุนนิยม โลภนิยม โทสนิยม โมหนิยม ซึ่งก็คือกิเลสนิยม โดยไม่รู้ตัว เครือข่ายใยประสาทในสมองถูกจัดระบบให้ “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว” โดยไม่รู้ตัว ทั้งโดยผู้ที่รักเราที่สุด คือพ่อแม่ และโดยสังคมโดยรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สื่อมวลชน ที่โฆษณาสินค้าไม่จำเป็นอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง ผมมีสมมติฐานส่วนตัว ว่าสินค้าที่ยิ่งโฆษณามาก และค่าโฆษณาน่าจะสูงมาก เป็นสินค้าที่ยิ่งมีความจำเป็นน้อย ด้วยความคิดแปลกประหลาดเช่นนี้เอง ผมจึงไม่นิยมสินค้า แบรนด์เนม

ด้วยเหตุนี้และ เราจึงต้องหาทางสร้างภูมิคุ้มกันในสมองของลูกหลานเรา จากความเสี่ยงในชีวิตสมัยใหม่ เครื่องมือที่ช่วยมีหลากหลาย ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเครื่องมือวิเศษอย่างหนึ่ง และหลักการ ทักษะชีวิต ใน 21st Century Skills เป็นอีกเครื่องมือหนึ่ง

แต่ความเสี่ยงในชีวิตยังมีมากกว่านั้น และที่อันตรายที่สุดทำความทุกข์ยากแก่ชีวิตของตนเองที่สุด และยังก่ออันตรายแก่ประเทศหรือแก่โลกอย่างเหลือคณา เช่นก่อสงครามโลก ก่อการรบราฆ่าฟันกันในรูปแบบอื่น คือความเสี่ยงที่เกิดจากการหลงตน คนที่ยิ่งเก่ง ยิ่งประสบความสำเร็จในชีวิตมากเพียงไร ความเสี่ยงนี้ยิ่งมาก

คนที่เก่งมาก ประสบความสำเร็จในชีวิตมาก ผู้คนชื่นชมเคารพนับถือมาก คนป้อยอสอพลอเพื่อเอาประโยชน์ใส่ตนก็มากเป็นเงาตามตัว จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการหลงตน ประเทศไทยกำลังมีความเสี่ยง ที่เกิดจากคนหลงตนเอง

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ก.ย.​ ๕๕