เมื่อท่านได้มีบุญกุศลได้เกิดมาเป็นมนุษย์และอยู่รอดปลอดภัยปราศจากจากภัยพิบัติ คุณค่าของมนุษย์สิ่งหนึ่งที่ท่านจะสามารถสร้างได้ คือ การได้พิสูจน์สิ่งต่างๆ และการพิสูจน์คุณค่าส่วนเกินที่ประเดประดังเข้ามาในชีวิต เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จะพิสูจน์คุณค่าความเป็นคนได้ดีอีกกรณีหนึ่ง ในวัฒนธรรมบริโภคนิยม (consumer culture) ที่การบริโภคมีอิทธิพลกำหนดวิถีชีวิตรวมถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และระบบคุณค่าต่างๆ ในสังคม
เราจะพบว่า เมื่อเราบริโภคปัจจัยสี่ (ห้า หก ฯลฯ) เราไม่ได้บริโภค คุณค่าที่จำเป็น หรือคุณค่าทางการใช้สอย (use value) ของสิ่งนั้นๆ แต่เราบริโภคสัญญะหรือ คุณค่าส่วนเกิน ที่เกิดจากการครอบครองหรือเป็นเจ้าของสิ่งนั้นๆ เช่น เราไม่ได้มีบ้าน เพราะคิดว่าบ้านเป็นที่อยู่อาศัย กันแดดฝนหรืออันตรายต่างๆ แต่เพราะบ้านเป็นสัญญะที่แสดงถึงคุณค่าอื่นๆ เช่น ชาติตระกูล ชนชั้นทางสังคม ฐานะหน้าตา ความน่าเชื่อถือ ความสำเร็จของชีวิตครอบครัว ความผูกพันใกล้ชิด ความอบอุ่น รสนิยม สุนทรียภาพ ความหรูหรา ฯลฯ เช่นเดียวกันเมื่อบริโภคอาหาร เสื้อผ้า โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ สินค้าอื่นๆ รวมถึงการออกกำลังกาย การพักผ่อน กีฬา บันเทิง ความสะดวกสบายด้านการบริหาร
หรือแม้บริโภควิชาการ องค์ความรู้ (ยี่ห้อตะวันตก/ตะวันออก) และกระทั่งบริโภคศาสนา เราก็มักจะบริโภคสัญญะหรือคุณค่าส่วนเกินจากสิ่งนั้นๆ มากกว่าที่จะบริโภคคุณค่าที่จำเป็นต่อ ตัวชีวิต จริงๆ
คุณค่าส่วนเกินจึงเป็น คุณค่าที่เป็นจริง ในชีวิตประจำวันของเราเสียยิ่งกว่าคุณค่าที่จำเป็น เพราะเป็นตัวกำหนดค่านิยม ทางเลือกวิถีชีวิต ตลอดถึงทิศทางของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง หรือแม้แต่พิธีกรรมทางศาสนา ที่ประจักษ์ได้ด้วยรูปธรรมแห่งการปฏิบัติในโลกของความเป็นจริง
ขณะที่คุณค่าที่จำเป็นกลายเป็นอุดมคติหรือนามธรรมที่คลุมเครือ แทบไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตที่เป็นจริงในสังคมซึ่งตัดสินความสุขและความสำเร็จกันด้วยคุณค่าเชิงสัญญะหรือ ภาพลักษณ์ (image) ที่ดูดี
“ต้นเหตุภัยพิบัติหรือสาธารณภัย เป็นผลสืบเนื่องจากคุณค่าส่วนเกินของมนุษย์ การป้องกันภัยพิบัติที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดของมนุษย์ ก็คือ ลดการบริโภคคุณค่าส่วนเกินของมนุษย์ บริโภคเฉพาะคุณค่าที่จำเป็นเท่านั้น”
—————8888888————–