ความสำคัญของการสรุปบทเรียนการจัดการภัยพิบัติแต่ละครั้งนั้น คือ เป็นเครื่องมืออันสำคัญของผู้ที่ทำงานจัดการภัยพิบัติจะส่งต่อให้ตัวแทนในการขัดเกลาทางสังคม เพื่อให้ตัวแทนในการขัดเกลาทางสังคมมีกระบวนทัศน์ในการจัดการภัยพิบัติต้องตรงกัน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน อันจะทำให้ทุกตัวแทนการขัดเกลาทางสังคมมีเป้าหมายในการจัดการภัยพิบัติร่วมกัน อันนำไปสู่การขับเคลื่อนกระบวนการไปสู่จุดหมาย/เป้าหมายเดียวกันทั้งองคาพยพ
ทั้งนี้ การขัดเกลาทางสังคม คือ การนำคนเข้าสู่ระบบของสังคม โดยผ่านกระบวนการต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่ขัดเกลาอัตตชีวะให้พ้นจากสภาพสัญชาตญาณเดิมจนกลายเป็นมนุษย์สังคม
เพื่อให้สังคมอยู่อย่างปลอดภัยจากภัยพิบัติ การขัดเกลาทางสังคมดังกล่าวจะต้องมีกระบวนทัศน์ต่อการเกิดภัยพิบัติว่า ภัยพิบัติต้องเกิดขึ้นแน่นอน ฉะนั้น ต้องมีการวางแผนการรับมือ ต้องมีระบบที่มาตรฐานอันประกันได้ระดับหนึ่งว่าจะทำให้ทุกตัวแทนการขัดเกลาทางสังคมให้ความสำคัญกับการรับมือกับภัยพิบัติ ทำหน้าที่ให้ความรู้ เตรียมความพร้อม มีการวางแผน สรุปบทเรียน ปลูกฝังวัฒนธรรมการรับมือกับภัยพิบัติให้กลายเป็นวิถีชีวิต มีการจัดทำคู่มือการปฏิบัติตัว (How to) เมื่อเผชิญภัยพิบัติทุกหน่วยงาน
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน กระบวนทัศน์ในการจัดการภัยพิบัติของหน่วยงานต่างๆ ของประเทศไทยไปกันคนละทิศคนละทาง นอกจากนี้ในหลายกรณีสะท้อนให้เห็นว่า สังคมมีกระบวนการทัศน์ต่อการจัดการภัยพิบัติโดยอาศัยความเชื่อ ความนิยมชมชอบ ความต้องการเฉพาะตนเฉพาะกลุ่มมากกว่าอาศัยความรู้ทางวิชาการ อาศัยหลักคุณธณรม จริยธรรม อีกทั้ง ในหลายๆ กรณีถูกนำไปเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ทางการเมือง
หลักการสรุปบทเรียนการจัดการภัยพิบัติ
1. ต้องแยกกันออกเป็นชุด อย่างน้อย 3 ชุด คือ
1.1 ระดับปฏิบัติการ
1.2 ระดับบัญชาการ
1.3 ระดับอำนวยการ
2.ใช้เครื่องมือการวิเคราะห์หลังการปฏิบัติหรือที่เรียกกันว่า After Action Review (AAR) โดยมีคำถามสำคัญ คือ
2.1 เราวางแผนกันไว้อย่างไร อะไรคือจุดหมายของการปฏิบัติการ
2.2 เมื่อเราดำเนินโครงการพัฒนาไประยะหนึ่งแล้ว สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งใดเป็นไปตามที่วางไว้ / ทำไมเป็นเช่นนั้น
2.3 สิ่งใดไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ / ทำไมเป็นเช่นนั้น
2.4 เรามีปัญหาอะไรบ้าง
2.5 เราน่าจะสามารถทำสิ่งใดให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้บ้าง
2.6 ในการดำเนินงานครั้งต่อไป สิ่งใดที่เราจะปฏิบัติแตกต่างไปจากครั้งที่ผ่านมาบ้าง ฯลฯ
3. สรุปและสังเคราะห์เป็นเอกสารชุดความรู้ คู่มือ ตำรา ฯลฯ ที่บุคคลอื่นสามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้ให้การปฏิบัติงานมีคุณภาพยิ่งขึ้น
—————————————55555555555————————————–