การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันและการเผาในที่โล่ง
ปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษหมอกควันในจังหวัดนครพนม ปัจจุบันระดับของการเกิดไฟป่าในพื้นที่จังหวัดนครพนมมีความรุนแรงน้อยมาก ยังไม่ก่อให้เกิดวิกฤติมลพิษหมอกควันจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและชีวิตของประชาชนเป็นวงกว้าง ซึ่งแนวทางการดำเนินงาน มาตรการและแนวทางบริหารจัดการด้านไฟป่าและหมอกควันจากไฟป่า ประกอบด้วย 4 แนวทาง คือ
(1) การรณรงค์ประชาสัมพันธ์
(2) การเตรียมความพร้อมลดความสูญเสีย
(3) การฟื้นฟูและบรรเทาหลังจากเกิดไฟป่า
(4) มุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอัคคีภัย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยใช้กรอบแนวทางและมาตรการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาตามแผนการควบคุมไฟป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และแผนแม่บทการควบคุม การเผาในที่โล่งของกรมควบคุมมลพิษ
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษหมอกควัน จะสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลได้อย่างเต็มที่ หากได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากหน่วยงานและประชาชนทั่วไป ดังนี้
สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ดำเนินโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆอย่างเข้มข้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเผา ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคประชาชน เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านเกษตรกร และประชาชนทั่วไป และจัดฝึกอบรมให้นักเรียน นักศึกษา และอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมู่บ้านให้มีความรู้ถึงสาเหตุและผลกระทบจากการเผา และขอความร่วมมือกลุ่มเป้าหมายในการลดการเผา พัฒนาองค์ความรู้ และผลิตสื่อเพื่อการสื่อสารต่อสาธารณชนและเผยแพร่องค์ความรู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกในการลดและควบคุมการเผาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ดำเนินการเตรียมความพร้อมในการควบคุมไฟป่า จัดทำแนวกันไฟและจัดการเชื้อเพลิงให้แล้วเสร็จก่อนช่วงเวลาห้ามเผาตามที่จังหวัดกำหนด อบรมให้ความรู้และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า สร้างกลไกและเครือข่ายให้ชุมชนมีส่วนร่วมดูแล เฝ้าระวังเพื่อป้องกันไม่ให้เผาในที่โล่งและไฟป่า จัดฝึกอบรมหลักสูตรอาสาสมัครป้องกันและควบคุมไฟป่า จัดตั้งชุดเฉพาะกิจเคลื่อนที่เร็วควบคุมไฟป่า และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีเผาป่าและยึดถือครอบครองพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย – ออกประกาศจังหวัดเพื่อกำหนดเขตควบคุมไฟป่า มาตรการควบคุมไฟป่า มาตรการควบคุมการเผาพื้นที่เกษตรกรรม และกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
ที่ทำการปกครองจังหวัด กำกับ ดูแลให้อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านควบคุมไม่ให้มีการเผาในช่วงวิกฤตหมอกควันตามที่ประกาศที่จังหวัดกำหนด ให้มีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อผู้ฝ่าฝืน และให้ความรู้ ความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเผา จัดทำประชาคมเพื่อกำหนดช่วงเวลาห้ามเผาตามความเหมาะสมและสถานการณ์ความรุนแรง
สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด กำกับดูแลให้ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำกับ ดูแลไม่ให้มีการเผาในช่วงวิกฤตหมอกควันตามที่ประกาศที่จังหวัดกำหนด ให้มีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดต่อผู้ฝ่าฝืน และให้ความรู้ ความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเผา ส่งเสริมภารกิจควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการควบคุมไฟป่าของชุมชนท้องถิ่น
สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด
1) ดำเนินการเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบ ประมวลผลข้อมูลคุณภาพอากาศและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อรายงานและแจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควันผ่านช่องทางต่าง ๆ ตามระดับความรุนแรงของประมาณฝุ่นละออง สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการให้จังหวัดใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจในการกำหนดช่วงเวลาวิกฤต และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน
2) จัดทำและให้บริการข้อมูล ข่าวสาร เผยแพร่ ผลงานวิจัยที่ประสบผลสำเร็จ ทั้งในลักษณะโครงการ สาธิต การจัดสัมมนา และการจัดนิทรรสการเกี่ยวกับมาตรการควบคุม ป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาในที่โล่ง
3) สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์และกำลังพลจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 7 สกลนครและเครือข่ายอาสาป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยประสานการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546
4) เมื่อเกิดสถานการณ์ไฟป่าขึ้น ดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้
4.1) จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันระดับ
จังหวัด อำเภอ ตำบล
4.2) ส่งเสริมทุกภาคส่วนเข้าร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างต่อเนื่อง
4.3) ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูล รวมทั้งเพิ่มช่องทางการรายงานข้อมูลให้แก่หน่วยงานระดับพื้นที่
4.4) ติดตามผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหา ตลอดจนวิเคราะห์และประเมิน ความสำเร็จ ปัญหาอุปสรรค จุดอ่อน จุดแข็ง รวมทั้งแนวทางการปรับปรุงการดำเนินงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันของจังหวัดในปีต่อไป
สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ดำเนินการจัดระเบียบการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น เพื่ออนุญาตให้มีการเผาเศษวัสดุการเกษตรเท่าที่จำเป็นในช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดไฟลุกลามและส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง
สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนมและสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัด ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนการเกษตรปลอดการเผา ส่งเสริมให้เครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาจัดตั้งศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรปลอดการเผา โดยให้การสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อให้มีการนำไปใช้ในทางปฏิบัติอย่างจริงจังในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร โดยการนำไปทำปุ๋ยหมัก หรือทำการไถกลบ แทนการจุดไฟเผา
โครงการชลประทาน สนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ในกรณีเกิดไฟไหม้ในพื้นที่ป่าพรุและการควบคุมระดับน้ำในพื้นที่ป่าพรุต่าง ๆ เพื่อกักเก็บน้ำให้มีน้ำอยู่ในพื้นที่ป่าพรุอย่างเพียงพอ เป็นการลด ความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า สำนักฝนหลวงและการบินเกษตรดำเนินการทำฝนหลวงเพื่อสร้างความชุ่มชื้นในช่วงฤดูแล้ง
จังหวัดทหารบก สนับสนุนการดับไฟป่าตามแผนระดมพลดับไฟป่าในสถานการณ์วิกฤติ โดยใช้กำลังพล สิ่งอุปกรณ์ และอากาศยานของกองทัพ ในกรณีที่ได้รับการร้องขอ และกำหนดมาตรการและแนวทางป้องกันการเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าที่กองทัพขอใช้ประโยชน์ และดำเนินการตามมาตรการและแนวทางที่กำหนด
ตำรวจภูธรจังหวัด สนับสนุนการดับไฟป่าตามแผนระดมพลดับไฟป่าในสถานการณ์รุนแรงและสถานการณ์วิกฤติ โดยใช้กำลังพล สิ่งอุปกรณ์ และอากาศยานในกรณีที่ได้รับการร้องขอ
แขวงทางหลวงนครพนมและแขวงทางหลวงชนบท ทำการกำจัดวัชพืชในเขต สองข้างทางหลวงอย่างสม่ำเสมอตลอดช่วงฤดูแล้ง และหามาตรการป้องกันการเกิดไฟไหม้พื้นที่สองข้างทางหลวงรวมทั้งทำการดับไฟที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดไฟไหม้ในเขตทางหลวงแล้วลุกลามไปยังเขตพื้นที่ป่า หรือบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งห้ามกำจัดวัชพืชโดยวิธีจุดไฟเผาโดยเด็ดขาด และการบังคับใช้มาตรการด้านกฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้เผาริมทาง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
สถานีอุตุนิยมวิทยา สนับสนุนข้อมูลสภาพอากาศย้อนหลัง และพยากรณ์อากาศครอบคลุมทั้งประเทศ และประกาศแจ้งเตือนในช่วงฤดูแล้งให้ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ระมัดระวังการใช้ไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่อุณหภูมิสูง ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ และกระแสลมแรง อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้อง แม่นยำ ทันเหตุการณ์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า
มหาวิทยาลัย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และกระตุ้นเตือนให้นักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครองทุกระดับได้ตระหนักถึงภัยอันตรายและปัญหาจากไฟป่า พร้อมทั้งส่งเสริม สนับสนุนให้มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาไฟป่า – สอดแทรกความรู้เรื่องการป้องกันไฟป่าในหลักสูตรการเรียนการสอนในทุกระดับเพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้โดยการป้องกันไฟป่าให้แก่เยาวชนอย่างต่อเนื่อง
สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ดำเนินการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และกำชับให้นักท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ช่วยกันระมัดระวังและป้องกันการเกิดไฟป่าในช่วงฤดูแล้งเป็นพิเศษ
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชน และให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ความรู้ถึงสาเหตุและผลกระทบจากการเผา และขอความร่วมมือในการลดการเผากับกลุ่มเป้าหมาย – สนับสนุนการเตรียมความพร้อมของจังหวัดและท้องถิ่นในการเตรียมอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล และการให้บริการด้านสุขภาพอนามัย รวมถึงจัดหน่วยเคลื่อนที่ให้คำแนะนำประชาชนถึงวิธีการปฏิบัติตนในช่วงวิกฤต
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครพนม และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่ง ประเทศไทยจังหวัด รณรงค์ประชาสัมพันธ์ในช่วงฤดูแล้งเพื่อขอความร่วมมือให้ประชาชนงดการจุดไฟเผาป่า ระมัดระวังการใช้ไฟในพื้นที่ป่า การทำแนวกันไฟและควบคุมการเผาพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามเข้าป่าอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตลอดช่วงฤดูไฟป่า มีจิตสำนึกร่วมป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ตระหนักถึงผลเสียและอันตรายจากการเผาขยะและสิ่งของเหลือใช้ประโยชน์ในชุมชนและสร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์จากขยะ รณรงค์สร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนเพื่อสร้างความเข้าใจและทัศนคติที่ดีนาการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นทดแทนการเผา รวมถึงผลกระทบการเผาในที่โล่งและไฟป่า เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระยะยาว ผ่านทางสื่อทุกประเภทของกรมประชาสัมพันธ์
——————–xxx———————