วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

บรรพบุรุษของเราได้เรียนรู้  ได้สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ  เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ  และได้ถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานมาได้ระยะหนึ่ง

จนเราได้พัฒนาการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่ได้รับการยอมรับหรือสามารถนำมาประกอบอาชีพได้  การเรียนรู้ในอดีตได้ถูกลืมให้เป็นความรู้ที่มีสถานะเป็นรอง

เป็นความจริงที่ขมขื่น ที่แม้นักประวัติศาสตร์  ก็ได้ละเลยการจารึก  ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเล่าของคนในศูนย์กลางอำนาจ โดยมุ่งที่จะรวมจิตสำนึกของชุมชนนั้นไว้ที่ศูนย์กลางเป็นส่วนใหญ่  โดยละเลยประสบการณ์และเสียงของคนเล็กคนน้อยที่มีอยู่

ประสบการณ์  เรื่องเล่าจากคนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ  จำเป็นต้องมีในการป้องกันปัญหาภัยพิบัติ  เพื่อจะได้ก่อให้เกิดความรู้ที่หลากหลายขึ้นมา  คนอื่นจะได้เรียนรู้   ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่าการศึกษาจากเรื่องเรื่องเล่าจากนักประวัติศาสตร์มากมายนัก  คนประสบภัยพิบัติใช้ประสบการณ์เป็นวัตถุดิบในการเล่า   ไม่ใช่หลักฐานอย่างนักประวัติศาสตร์

เป็นที่น่าเสียใจที่กรม ปภ.ได้ละเลยเรื่องเล่าเหล่านี้  กว่าสี่พันกว่าชุมชนที่ได้เล่าเรื่องให้บุคลากรของกรม ปภ.ได้รับทราบ   แต่มีการรายงานแค่ผลการดำเนินการไปจัดโต๊ะ จัดเก้าอี้ และมีคนมาร่วมกี่คน

ทุกๆปี  และในทุกจังหวัด เรื่องเล่าที่อยู่บนกระดาษแผ่นเท่ากับหนึ่งตารางเมตร จำนวน ๔-๕ แผ่น  จะถูกนำไปชั่งกิโลขาย

และหนึ่งในนั้นก็จะประมวลฉันทามติของชุมชนที่ประสบภัยพิบัติว่าเขาต้องการแก้ไขปัญหาในชุมชนของเขาอย่างไร  แต่ทุกๆปีก็จะถูกนำไปเก็บรอชั่งกิโลขาย เช่นกัน