กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นการผสมผสานของอุดมคติที่คลุมเครือ ดังนี้
๑.จุดแข็งของกรม ปภ. คือ มีโครงสร้างอำนาจหน้าที่ที่กว้างขวางครอบคลุม เพียงพอที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ได้เป็นอย่างดี ในกรอบของพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐
๒.จุดอ่อน อันเป็นคุณลักษณะภายในที่เป็นจุดด้อย ข้อเสียเปรียบของกรม ที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้นหรือขจัดให้หมดไป ได้แก่
๒.๑ ขาดความชัดเจนในบทบาทหน่วยงานกลางของรัฐ ทำให้ที่ผ่านมาได้ละเลยสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้กรมประสบความสำเร็จและบรรลุวิสัยทัศน์ที่เป็นหน่วยงานกลางของรัฐ ดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศที่มีมาตรฐานสากล หรือดำเนินการในสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการบรรลุวิสัยทัศน์ เช่น
-ละเลยการพัฒนาระเบียบปฏิบัติประจำทำให้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในทุกระดับไม่ถูกนำมาใช้
-ละเลยการพัฒนาปรับปรุงการบริหารจัดการภัยพิบัติทุกระดับ ทำให้ปัจจุบันประสิทธิภาพการบริหารจัดการขึ้นกับผู้บริหาร/คณะกรรมการแต่ละระดับโครงสร้าง กรมและสำนักงาน ปภ.จังหวัดสนับสนุนให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้น้อยมาก
– ขาดการสนับสนุน เสริมสร้างความรู้ความสามารถของบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ค่าใช้จ่ายแพงเกินไป) และพยายามพัฒนาชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต(ERT)แข่งกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง ๆ ที่ควรจะพัฒนาชุดสนับสนุนการจัดการเหตุการณ์สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอหรือจังหวัด
– ขาดการสนับสนุนสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอและจังหวัด ให้ความสำคัญเฉพาะการรายงานสถานการณ์แต่เมื่อได้รับรายงานแล้วไม่มีการสนับสนุนสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการในพื้นที่ที่เป็นรูปธรรม
๒.๒ ขาดความชัดเจนในการสร้างหลักประกันให้ประเทศไทยเป็นเมืองปลอดภัยน่าอยู่ ทำให้ที่ผ่านมาได้ละเลยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ละเลยการพัฒนาการสื่อสารประเด็นสาธารณะทำให้เกิดความขัดแย้ง ขาดการมีส่วนร่วม
๒.๓ ไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการป้องกันภัยเชิงรุกทำให้ละเลยสิ่งที่ต้องทำล่วงหน้า เช่น การประเมินความเสี่ยง การติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อม
๒.๔ ขาดความร่วมมือในการผลิตความรู้
๓. ข้อจำกัด/ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน เป็นอุปสรรคทางสภาพแวดล้อม/สถานการณ์ที่ขัดขวางการบรรลุเป้าหมายของกรมสามารถส่งผลกระทบทางลบ ซึ่งกรมต้องปรับสภาพองค์กรให้มีความแข็งแกร่งพร้อมที่จะเผชิญแรงกระทบ ปัจจัยสภาพแวดล้อม/สถานการณ์ภายนอกที่ขัดขวางการดำเนินงานของกรมไม่ให้บรรลุวัตถุประสงค์ ได้แก่
๓.๑ สังคมไทยยังขาดวัฒนธรรมการตื่นรู้ อันจะทำให้มีความยืดหยุ่นพร้อมที่จะตอบสนองต่อสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์/สภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายใน และที่สำคัญคือ การมีความสุขอยู่กับการมีความฝันหรือภาพแห่งความสำเร็จในอนาคต(วิสัยทัศน์) และสังคมไทยขาดวัฒนธรรมอัจฉริยะ อันจะทำให้กล้าคิดที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองอยู่ตลอดเวลา สร้างสารสนเทศใหม่ๆก่อให้เกิดทางเลือกที่หลากหลาย ฉลาดคิดฉลาดทำ
๓.๒ สังคมไทยขาดความเข้าใจประชาธิปไตย ทำให้ขาดการยอมรับและให้เกียรติคนอื่น ขาดความตระหนักถึงคุณค่าซึ่งกันและกัน ขาดการพัฒนาด้านข้อตกลงร่วมกันหรือพันธสัญญาร่วมกัน ขาดโอกาสในการจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติ
จากทั้ง ๒ ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ทำให้โครงการจัดการภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน โครงการฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร
๔.โอกาสที่จะดำเนินการได้ เป็นปัจจัยสภาพแวดล้อม/สถานการณ์ที่เอื้ออำนวยให้การดำเนินงานของกรมบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของกรม กรมสามารถฉกฉวยข้อดีทางสภาพแวดล้อมมาเสริมสร้างให้กรมเข้มแข็งขึ้น ได้แก่
๔.๑ ชุมชนเสมือนด้านสาธารณภัยมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากเหตุสาธารณภัยที่ผ่านมา ชุมชนเสมือนก็ได้แสดงตัวให้ความช่วยเหลือหรือมีส่วนร่วมอย่างชัดเจน ดังนั้น กรมจะต้องพัฒนางานด้านสารสนเทศเพื่อตอบสนองความสนใจ สร้างระบบความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับการปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพ
๔.๒ ทุกภาคส่วนให้ความสนใจเรื่องสาธารณภัย ตั้งแต่ระดับนโยบาย จนถึงระดับปฏิบัติในท้องถิ่น ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจและภาคประชาสังคมหลายๆส่วนได้พยายามพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานให้ยืดหยุ่นต่อสถานการณ์สาธารณภัย
————–$$$$$$$$—————-