วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

การที่จะเข้าสู่ความพร้อมพอในการรอดพ้นจากภัยพิบัติ เราจะต้องรู้จักจังหวะตามวัฏจักรภัยพิบัติอันประกอบด้วย 3 จังหวะ ประกอบด้วย จังหวะก่อนเกิดภัย จังหวะเมื่อเกิดภัย และจังหวะหลังเกิดภัย

โดยมีระบบย่อยในแต่ละจังหวะ ประกอบด้วย

จังหวะก่อนเกิดภัย

1) ระบบการศึกษาเรียนรู้ ความรู้ การจดจำระลึกได้ และตระหนักในเรื่องภัยพิบัติ

ให้ถือเป็นระบบที่สำคัญที่สุดใน 7 ระบบ ที่ทุกระดับและทุกหน่วยในสังคมที่จะต้องพร้อมพอในการหมั่นตรวจสอบความรู้ ตรวจสอบข้อมูล และประเมินความเสี่ยงแล้วระบุชี้ชัดความเสี่ยงนั้นๆ เพื่อนำสู่การศึกษาเรียนรู้ และจดจำตระหนักรู้เพื่อนำสู่การจัดการลดความเสี่ยง  พื้นที่โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเรียนรู้และประเมินถึงโอกาสและความเสี่ยงต่อภัยพิบัติของบุคคล ชุมชนอย่างสมำ่เสมอ

2)  ระบบป้องกัน ลด และปกป้องความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

ต้องพร้อมพอในการมีมาตรการอย่างจริงจัง และต่อเนื่องชัดเจนทุกระดับและทุกหน่วยในพื้นที่

3) ระบบเตือน และความพร้อมเผชิญ แผนการเฝ้าระวัง ฝึกซ้อม ตลอดจนการอพยพ

เป็นระบบที่เมื่อคาดว่าจะเกิดสถานการณ์ที่เป็นอันตราย หรือในพื้นที่หรือในจุดที่มีหายนะมีความเสียหายซ้ำซาก  เช่นในจุดที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนซ้ำซาก ลำดับความสำคัญเร่งด่วนให้มีความพร้อมพอคือการแจ้งเตือนผู้ขับขี่ให้ตื่นระวังในจุดที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก

จังหวะเมื่อเกิดภัย

4) ระบบปฏิบัติการพิเศษในภาวะฉุกเฉินเพื่อตอบโต้ ระงับ สกัดภัย การจัดการพื้นที่ ช่วยชีวิตและเก็บกู้ร่างกลับคืนครอบครัว

เฉพาะเมื่อเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่และรุนแรง คลอบคลุมพื้นที่กว้าง หรือมีผลกระทบที่มีความต่อเนื่องยาวนาน

5) ระบบปฏิบัติทางการแพทย์เพื่อช่วยชีวิต รักษาพยาบาลและฟื้นฟูสภาพจิตใจ

มีความจำเป็นตั้งแต่ภัยพิบัติขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่

จังหวะหลังเกิดภัย

6) ระบบการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ที่อยู่อาศัยและสิ่งอุปโภคบริโภค

ต้องมีความพร้อมพอในปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพหรือการป้องกันโรค ตามกลุ่มวัย อาชีพ เพศ สถานภาพ พื้นที่และประเภทภัย

7) ระบบการฟื้นฟูชีวิต ชุมชน อาชีพ สังคมวัฒนธรรม

ความพร้อมพอที่สำคัญที่สุดคือการปรับชีวิต วิถีชุมชนและวิธีคิดให้มีการจดจำ ตระหนัก ตื่นรู้จากบทเรียนที่ผ่านมาสู่การจัดการภัยพิบัติอย่างครบวงจรต่อไป

———————————-55555555555———————————–