วิทยาการสาธารณภัย By ดร.วัฒกานต์ ลาภสาร

ในรั้วสถานศึกษาไม่สำคัญเฉพาะการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กเท่านั้น การดูแลคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่เด็กก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ประเด็นที่สถานศึกษาควรจะต้องใส่ใจดำเนินการเป็นอย่างดี นอกจากการจัดการเรียนการสอนก็คือ

1. ความปลอดภัยในการเดินทางไป-กลับโรงเรียน โดยมีแนวทางการดูแลคุ้มครอง ดังนี้

1.1 มีกระบวนการให้คำแนะนำความปลอดภัยการรับส่งนักเรียน เช่น การจัดประชุมกับผู้ประกอบการ/ผู้ปกครอง มีการทำทะเบียนรถรับส่งพร้มอเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ มีการตรวจสอบสภาพรถรับส่งนักเรียน  ตรวจสภาพรถจักรยาน/จักรยานยนต์ของนักเรียนให้มีความปลอดภัย  ควบคุมช่วยเหลือการทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์  มีการจัดอบบรมการขับขี่ที่ปลอดภัย/การปฏิบัติตามกฎจราจร และไม่ควรสนับสนุนให้นักเรียนต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่รถจักรยานยนต์มาโรงเรียน

1.2 มีการจัดระบบ/ปรับปรุงเส้นทางเดินทางไป-กลับโรงเรียนที่ปลอดภัย  เช่น การตรวจสอบจุดที่เสี่ยงจุดที่เป็นอันตรายในการเดินทางของนักเรียน การจัดกลุ่มนักเรียนให้เดินกลับพร้อมกัน  มีเด็กโตหรืออาสาสมัครควบคุม

2. โรงเรียนมีแผนการเตรียมรับมือภัยพิบัติพื้นฐานสำหรับความปลอดภัยของนักเรียน จากภัยพิบัติที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับนักเรียน เช่น อุทกภัย แผ่นดินไหว ไฟป่า หมอกควัน  อัคคีภัย  สารเคมีรั่วไหล ให้ครูและบุคลากรรู้ชัดถึงการนำปฏิบัติต่อนักเรียน  ทั้งนี้ ครูและบุคลากรควรได้รับการฝึกอบรมการช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการกู้ภัยเบื้องต้น

3. มีการจัดทำผังการสื่อสารประสานหากเกิดภัยพิบัติแสดงไว้ให้ชัดเจน จะได้ติดต่อสื่อสารขอความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว

4. มีการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารและบริเวณสถานที่  อุปกรณ์ไฟฟ้า  วัสดุอุปกรณ์ในห้องเรียนที่ชำรุด เครื่องเล่น/อุปกรณ์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ต่างๆ ในบริเวณโรงเรียน อย่างสมำ่เสมอเป็นประจำทุกสัปดาห์มีการลงบันทึกการตรวจสอบไว้อย่างสม่ำเสมอ

5. มีกิจกรรมสำรวจจุดเสี่ยงทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน เป็นประจำทุกเดือน

———————–////////—————————